หากรู้สึกว่ามองไม่ชัด ต้องเพ่งสายตาบ่อย ๆ หรือเริ่มมีอาการปวดศีรษะ อาจถึงเวลาที่ต้องตรวจวัดสายตาแล้ว การวัดสายตาไม่ใช่แค่การอ่านตัวอักษรจากแผ่นทดสอบเท่านั้น แต่ยังมีหลายขั้นตอนที่ช่วยให้ทราบปัญหาทางสายตาอย่างละเอียด มาดูกันว่าการวัดสายตาคืออะไร และสำคัญอย่างไร
วัดสายตาคืออะไร สำคัญอย่างไร
การวัดสายตา คือการตรวจสอบความสามารถในการมองเห็น ทั้งในระยะใกล้และระยะไกล เพื่อประเมินค่าสายตาและหาความผิดปกติที่เกิดขึ้น เช่น สายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง
การวัดสายตาเป็นสิ่งสำคัญ เพราะช่วยให้เราทราบถึงปัญหาสายตาตั้งแต่เนิ่น ๆ และสามารถแก้ไขได้อย่างเหมาะสม เช่น การใส่แว่นตา คอนแทคเลนส์ หรือการทำเลสิก นอกจากนี้ การตรวจวัดสายตาเป็นประจำยังช่วยให้ตรวจพบโรคเกี่ยวกับดวงตาในระยะเริ่มต้น ซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาด
ค่าสายตามีกี่แบบ
ค่าสายตา คือค่าที่แสดงถึงความสามารถในการมองเห็น โดยค่าสายตาที่ได้จากการวัดสายตาแบ่งออกเป็น 3 แบบ ได้แก่
สายตาสั้น
สายตาสั้น คือภาวะที่แสงจากวัตถุระยะไกลโฟกัสก่อนจะถึงจอประสาทตา ทำให้มองเห็นวัตถุไกลไม่ชัดเจน แต่จะมองเห็นวัตถุใกล้ได้ชัดเจนกว่า โดยภาวะนี้อาจเกิดจากความโค้งของกระจกตามากเกินไป หรือลูกตายาวเกินไป แก้ไขได้ด้วยการใส่แว่นตา หรือคอนแทคเลนส์ที่มีค่าสายตาที่เหมาะสม สำหรับสายตาสั้นเมื่อวัดสายตาแล้ว จะได้ผลค่าสายตาที่มีเครื่องหมายลบ ( - ) นำหน้าตัวเลข
สายตาสั้นมีกี่ระดับ
สายตาสั้นแบ่งออกเป็น 2 ระดับหลัก ๆ คือ
-
สายตาสั้นระดับปกติ ค่าสายตาจะอยู่ในช่วง -0.25 ถึง -3.00 ไดออปเตอร์ (น้อยกว่า 300) ผู้ที่มีสายตาสั้นระดับนี้จะมองเห็นวัตถุระยะไกลไม่ชัดเจน แต่ไม่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อน สามารถแก้ไขได้โดยการใส่แว่นตา คอนแทคเลนส์ หรือการรักษาอื่น ๆ
-
สายตาสั้นระดับมาก ค่าสายตาจะมากกว่า -6.00 ไดออปเตอร์ (มากกว่า 600) ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนทางสายตา เช่น ต้อกระจก ต้อหิน จอประสาทตาหลุดลอก จอประสาทตาเสื่อม หรือเส้นเลือดงอกผิดปกติที่จอตา
สายตายาว
สายตายาว คือภาวะที่มองเห็นวัตถุในระยะใกล้ไม่ชัด แต่สามารถมองเห็นวัตถุในระยะไกลได้อย่างปกติ เกิดจากความผิดปกติของกระบอกตาที่มีขนาดสั้นเกินไป หรือความโค้งของกระจกตาหรือเลนส์แก้วตาที่มีความโค้งน้อยเกินไป ทำให้แสงที่ตกกระทบเข้าสู่ดวงตาไปโฟกัสที่จุดหลังจอประสาทตา ส่งผลให้ภาพที่ตกกระทบจอประสาทตาไม่ชัดเจน โดยเฉพาะภาพวัตถุในระยะใกล้ เมื่อวัดค่าสายตาแล้ว ได้ผลค่าสายตาที่มีเครื่องหมายบวก ( + ) นำหน้า
สายตายาวมีกี่ระดับ
โดยทั่วไปแล้ว ภาวะสายตายาวจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับหลัก ๆ ดังนี้
-
สายตายาวระดับน้อย ค่าสายตาจะอยู่ที่ประมาณ +1.00 ถึง +2.00 ไดออปเตอร์
-
สายตายาวระดับปานกลาง ค่าสายตาจะอยู่ที่ประมาณ +2.25 ถึง +5.00 ไดออปเตอร์
-
สายตายาวระดับสูง ค่าสายตาจะอยู่ที่มากกว่า +5.00 ไดออปเตอร์ขึ้นไป
สายตาเอียง
สายตาเอียง คือภาวะที่มองเห็นภาพไม่ชัดเจนทั้งในระยะใกล้และระยะไกล เกิดจากความผิดปกติของกระจกตาหรือเลนส์แก้วตาที่มีความโค้งไม่เท่ากันทุกด้าน ทำให้แสงที่ผ่านเข้าสู่ดวงตาไปโฟกัสที่จุดหลายจุดบนจอประสาทตา ส่งผลให้ภาพที่เกิดขึ้นบนจอประสาทตามีความบิดเบี้ยว ไม่คมชัด เมื่อวัดสายตาแล้ว ค่าสายตาเอียงจะปรากฏอยู่หลังค่าสายตาสั้นหรือยาวบนใบผลตรวจ โดยมีค่าองศาการเอียงกำกับอยู่ด้วย
สายตาเอียงมีชนิด
สายตาเอียงแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
-
สายตาเอียงแบบสม่ำเสมอ พบได้บ่อยกว่า เกิดจากกระจกตาหรือเลนส์ตาที่มีความโค้งไม่สม่ำเสมอกันในทิศทางเดียว เช่น แนวตั้ง แนวนอน หรือแนวเฉียง ทำให้แสงที่เข้าสู่ดวงตาไม่โฟกัสเป็นจุดเดียว แต่มักจะโฟกัสเป็นเส้นหรือวงรี
-
สายตาเอียงแบบไม่สม่ำเสมอ มีสาเหตุจากกระจกตาหรือเลนส์ตาที่มีความโค้งไม่สม่ำเสมอกันในหลายทิศทาง ทำให้ภาพที่มองเห็นมีความบิดเบี้ยวและไม่คมชัด มักมีสาเหตุจากการบาดเจ็บที่ดวงตา โดยไม่สามารถรักษาได้ด้วยการสวมแว่นสายตา
วิธีการวัดค่าสายตาที่นิยมใช้
วิธีตรวจวัดสายตาที่นิยมใช้ ได้แก่
1. การตรวจความสามารถในการมองเห็น ( Visual Acuity Test )
การวัดสายตาหรือระดับการมองเห็น ( Visual Acuity หรือ VA ) เป็นการประเมินว่า ดวงตาสามารถมองเห็นได้ชัดเจนเพียงใด ทั้งระยะใกล้และระยะไกล โดยใช้แผนภูมิ Snellen Chart ซึ่งประกอบด้วยตัวอักษรหรือตัวเลขที่ลดขนาดลงตามลำดับ
2. การวัดค่าสายตา ( Refraction Test )
การตรวจวัดค่าสายตา ( Refraction Test ) ใช้เพื่อระบุภาวะผิดปกติ เช่น สายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการตัดแว่นหรือเลือกคอนแทคเลนส์ โดยสามารถวัดได้โดยใช้วิธีอ่านแผนภูมิตัวเลขและตัวอักษรผ่านอุปกรณ์ที่เรียกว่า Phoropter โดยตัวเครื่องจะมีช่องวงกลมคล้ายกับแว่นตา 2 ข้างติดตั้งอยู่
การเตรียมตัวก่อนวัดสายตา
ก่อนเข้ารับการตรวจสายตา ควรพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ดวงตาไม่อ่อนล้าและพร้อมต่อการตรวจสายตา หากมีแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ที่ใช้อยู่เป็นประจำ สามารถนำมาด้วยได้ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญได้ตรวจสอบและวิเคราะห์ค่าสายตาเดิมประกอบกับผลการตรวจใหม่
นอกจากนี้ หากมีประวัติเกี่ยวกับปัญหาทางสายตาหรือการรักษาที่ผ่านมา เช่น เคยผ่าตัดตา หรือมีโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องกับดวงตา ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวินิจฉัยและวางแผนการดูแลสายตาที่เหมาะสมกับคุณ
ขั้นตอนการตรวจวัดสายตา
การตรวจวัดสายตาจะเริ่มจากการตรวจความสามารถในการมองเห็น ต่อด้วยการวัดค่าสายตา
-
การตรวจความสามารถในการมองเห็น ( Visual Acuity Test ) ผู้เข้ารับการตรวจจะต้องยืนหรือนั่งห่างจากแผ่นแผนภูมิ Snellen Chart แล้วอ่านตัวอักษรหรือตัวเลขบนชาร์ต โดยเริ่มจากแถวบนสุดที่ตัวใหญ่ที่สุด แล้วค่อย ๆ ไล่ลงมาทีละแถว ระหว่างการทดสอบ จะมีการปิดตาข้างหนึ่งสลับข้าง หากไม่แน่ใจหรือมองไม่ชัด ก็สามารถคาดเดาได้ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะบันทึกผลการอ่านเพื่อประเมินระดับสายตา
-
การวัดค่าสายตา ( Refraction Test ) ผู้เข้ารับการตรวจจะต้องนั่งในตำแหน่งที่เหมาะสม ให้สายตาสามารถมองผ่านเลนส์ของเครื่องได้ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะปรับเลนส์บนเครื่องให้ใกล้เคียงกับค่าสายตาเดิมของผู้เข้ารับการตรวจ แล้วให้ลองอ่านภาพ หากยังมองไม่ชัด หรือภาพเบลอ เจ้าหน้าที่จะปรับเลนส์อีกครั้งจนกว่าจะอ่านได้ชัดเจนที่สุด เมื่อเสร็จสิ้นการตรวจ เจ้าหน้าที่จะบันทึกค่าเลนส์ที่ผู้เข้ารับการตรวจใช้ ซึ่งเป็นค่าสายตาที่บ่งบอกถึงความผิดปกติ
นอกจากนี้ อาจมีขั้นตอนการตรวจสุขภาพตาอื่น ๆ เช่น การวัดความดันลูกตา การทดสอบตาบอดสี การวัดความโค้งของกระจกตา ขึ้นอยู่กับสถานที่ให้บริการแต่ละแห่ง
การตรวจวัดสายตาเองง่าย ๆ ด้วยแผนภูมิ Snellen
การวัดสายตาด้วยตนเองเบื้องต้นสามารถทำได้ โดยใช้แผนภูมิสายตาที่เรียกกันว่า Snellen Chart ซึ่งมีตัวอักษรหรือตัวเลขเรียงเป็นแถว ลดหลั่นขนาดจากใหญ่ไปเล็ก พร้อมตัวเลขกำกับด้านข้าง ผู้ทดสอบจะยืนห่างจากแผนภูมิเป็นระยะ 20 ฟุต ( ประมาณ 6 เมตร ) แล้วอ่านตัวอักษรหรือตัวเลขตามลำดับ
ผลการวัดสายตาจะแสดงในรูปแบบ 20/20 โดยเลข 20 ตัวแรกหมายถึงระยะห่าง 20 ฟุตระหว่างแผนภูมิกับผู้ทดสอบ ส่วนเลข 20 ตัวหลังหมายถึงระยะห่างที่คนสายตาปกติทั่วไปสามารถอ่านได้
หากผลการวัดสายตาออกมาเป็น 20/20 แสดงว่า การมองเห็นอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ถ้าเลขตัวหลังมีค่ามากกว่าเลขตัวหน้า เช่น 20/40 แสดงว่า สายตาผิดปกติ
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการวัดสายตา
1. ค่าสายตาปกติ ควรมีค่าเท่าไร
ค่าสายตาปกติ คือ 0.00 D ( Diopter ) ซึ่งหมายความว่าไม่มีสายตาสั้น ยาว หรือเอียง
2. สายตา 20/200 คืออะไร
เลข 20 ตัวหน้าในค่าสายตา 20/200 หมายถึง ระยะ 20 ฟุต ซึ่งเป็นระยะที่คนที่มีสายตาผิดปกติสามารถอ่านตัวอักษรขนาดมาตรฐานได้ ส่วนเลข 200 ตัวหลัง หมายถึง ระยะ 200 ฟุต ซึ่งเป็นระยะที่คนสายตาปกติสามารถอ่านตัวอักษรชุดเดียวกันได้
นั่นแปลว่า ถ้าค่าสายตาของคุณอยู่ที่ 20/200 แสดงว่า สายตาของคุณแย่กว่าคนปกติถึง 10 เท่าอธิบายง่าย ๆ ก็คือ บุคคลนั้นต้องอยู่ห่างจากวัตถุ 20 ฟุต จึงจะเห็นได้เท่ากับคนสายตาปกติที่มองจากระยะ 200 ฟุต
3. สายตาสั้น 300 ถือว่าเยอะไหม
สายตาสั้น 300 ไดออปเตอร์ ถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งจะมองเห็นวัตถุในระยะไกลไม่ชัด และต้องใส่แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์เป็นหลัก
สรุปบทความ
การวัดสายตาเป็นกระบวนการสำคัญในการตรวจหาความผิดปกติของสายตา เช่น สายตาสั้น ยาว และเอียง วิธีการวัดสายตาที่นิยมใช้มีทั้งการตรวจความสามารถในการมองเห็น ( Visual Acuity Test ) และการวัดค่าสายตา ( Refraction Test ) การตรวจวัดสายตาเป็นประจำช่วยให้ทราบปัญหาสายตาตั้งแต่เนิ่น ๆ และสามารถแก้ไขได้อย่างเหมาะสม
สำหรับผู้ที่ต้องการวัดค่าสายตา และแก้ไขค่าสายตา สามารถเข้ามาปรึกษาปัญหากับผู้เชี่ยวชาญ และนักทัศนมาตรด้านสายตาได้ที่ศูนย์แว่นตาไอซอพติก ศูนย์แว่นตาโปรเกรสซีฟเฉพาะบุคคล เรามีทีมนักทัศนมาตรและจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษา ออกแบบ และวิเคราะห์การใช้สายตาของคุณอย่างละเอียด โดยมีปรมาจารย์โบบิ คอยดูแลทุกขั้นตอนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้คุณได้รับแว่นตาโปรเกรสซีฟที่ใส่สบาย ตอบโจทย์การใช้งาน และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมรับประกันความพึงพอใจสูงสุด 180 วัน
คำยืนยันจากผู้ใช้ แว่นตาโปรเกรสซีฟ อัจฉริยะไอซอพติก มากกว่า ท่าน คลิก
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :
ปรมาจารย์โบบิ สายด่วน : 081-538-4200
LINE ID : @isoptik
เว็บไซต์ : https://www.isoptik.com
whatsapp : +66 81-538-4200
อีเมล : isoptik@gmail.com