โดย แพทย์หญิง อรทัย สุวรรณพิมลกุล จักษุแพทย์
ด้วยเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน การผ่าตัดต้อกระจกเป็นการผ่าตัดที่ค่อนข้างรวดเร็ว และปลอดภัย อย่างไรก็ตามโอกาสในการเกิดภาวะแทรกซ้อนยังคงมีอยู่บ้าง ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นมีได้ตั้งแต่เล็กน้อยซึ่งสามารถรักษาหายได้ หรือบางครั้งอาจรุนแรงจนทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้
จะขอกล่าวถึงภาวะแทรกซ้อนที่พบได้หลังผ่าตัดต้อกระจกดังนี้
- ช่องหน้าลูกตาแบน ( flat anterior chamber )
- กระจกตาบวม
- เลือดออก
- ความดันตาสูง
- จุดรับภาพจอประสาทตาบวม
- จอประสาทตาหลุดลอก
- การติดเชื้อในลูกตา
- เหลือค้างของต้อกระจก
- ถุงหุ้มเลนส์ขุ่น
ภาพแสดงกายวิภาคของลูกตา : โดยปรกติจะต้องมีช่องหน้าลูกตา ( anterior chamber ) ซึ่งมีน้ำไหลเวียนอยู่ และป้องกันการติดกันระหว่างเลนส์ตา ( lens ) และกระจกตา ( cornea ) เนื่องจากว่าหากมีการติดกันของสองอวัยวะนี้จะทำให้เกิดการตายของเซลล์กระจกตาได้
ภายหลังการผ่าตัดต้อกระจกอาจพบภาวะช่องหน้าลูกตาแบนได้ ปัญหาที่พบบ่อย คือ จากแผลผ่าตัดมีการรั่วซึม ซึ่งหากการรั่วซึมเป็นเพียงเล็กน้อย และยังมีช่องหน้าลูกตาอยู่ อาจพิจารณาให้ยาร่วมกับการใส่คอนแทคเลนส์ เพื่อรอให้แผลติดเอง กรณีที่การรั่วซึมมากจนช่องหน้าลูกตาแบน หรือใช้คอนแทคเลนส์แล้วไม่ได้ผล แพทย์จะทำการเย็บปิดแผล เพื่อไม่ให้เกิดการถูกันระหว่างเลนส์เทียมกับกระจกตา และป้องกันโอกาสติดเชื้อจากแผลรั่วซึม
สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดช่องหน้าลูกตาแบน ได้แก่ การมีเลือดออกด้านหลังลูกตาหรือมีน้ำใต้ชั้น choroid
กระจกตาบวม ทำให้เกิดตามัวหลังการผ่าตัด ซึ่งเกิดได้จาก
- ผู้ป่วยมีภาวะเซลล์กระจกตาเสื่อมอยู่ก่อน เมื่อมีการผ่าตัดเกิดขึ้น เซลล์กระจกตามีโอกาสเสื่อมมากขึ้น จนอาจทำให้กระจกตาบวมได้
- การผ่าตัดใช้เวลานาน ในบางรายที่การผ่าตัดมีความยุ่งยากใช้เวลานานก็มีโอกาสทำให้เกิดกระจกตาบวมได้
- ต้อกระจกแข็งมาก : กระบวนการผ่าตัดโดยปรกติย่อมต้องมีความร้อนเกิดขึ้นระหว่างการสลายต้อกระจกด้วยคลื่นความถี่สูง ยิ่งต้อกระจกแข็งมาก ความร้อนที่เกิดขึ้นย่อมมีมาก ซึ่งความร้อนที่เกิดขึ้นอาจมีผลกระทบต่อการทำงานของเซลล์กระจกตาเกิดกระจกตาบวม
- ความดันตาสูง ซึ่งสาเหตุของความดันตาสูงจะกล่าวต่อไปในด้านล่างความดันตาที่สูงก็มีผลกระทบต่อการทำงานของเซลล์กระจกตาได้เช่นกัน
สำหรับการรักษาภาวะกระจกตาบวม แพทย์จะให้ยาเพื่อลดการอักเสบของเซลล์กระจกตา ซึ่งอาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่งเพื่อให้เซลล์กระจกตาที่ถูกกระทบกระเทือน ฟื้นสภาพกลับมาทำงานได้ตามปรกติ กระจกตาที่บวมก็จะค่อยใสขึ้น และการมองเห็นก็จะดีขึ้นได้ ถ้ามีความดันตาสูงแพทย์ก็จะพิจารณาให้ยาลดความดันตาควบคู่ไปด้วย ในบางกรณีหากเซลล์กระจกตาถูกกระทบกระเทือนมากหรือผู้ป่วยมีเซลล์เสื่อมอยู่ก่อนผ่าตัด อาจทำให้กระจกตาบวมระยะยาวได้ ซึ่งกรณีเช่นนี้อาจต้องให้จักษุแพย์ด้านกระจกตาพิจารณาการรักษาขั้นต่อไป
ภาวะแทรกซ้อนข้ออื่น ๆ จะกล่าวในบทต่อไป