โดย แพทย์หญิง อรทัย สุวรรณพิมลกุล จักษุแพทย์
ความดันโลหิตสูงเป็นภาวะที่พบบ่อยทั่วโลกเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ความผิดปรกติในอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายรวมไปถึงดวงตาเช่นกัน
ผลกระทบต่อดวงตาจากโรคความดันโลหิตสูงเกี่ยวเนื่องจากเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงดวงตา ซึ่งความผิดปรกติต่อดวงตาสามารถพบได้ทั้งในกรณีที่มีความดันสูงอย่างเฉียบพลันหรือเรื้อรัง
พยาธิสภาพของดวงตาจากความดันโลหิตสูง
แบ่งได้เป็น 2 กรณีใหญ่ คือ ความดันสูงแบบเฉียบพลัน และสูงแบบเรื้อรัง ซึ่งจะมีผลต่อเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงจอประสาทตา ( retina) ชั้นใต้จอประสาทตา ( choroid ) รวมถึงขั้วประสาทตา ( optic nerve )
ความดันโลหิตสูงเฉียบพลัน ( malignant hypertension )
ชั้นจอประสาทตา ( hypertensive retinopathy ) : ส่วนปลายของเส้นเลือดแดงขนาดเล็กมีการขยายตัว และผนังมีการรั่วซึมของสารน้ำในเส้นเลือด หรือพบปลายเส้นเลือดตีบ ทำให้เห็นเป็นจุดของชั้นจอประสาทตาขาดเลือด ( cotton wool spot ) นอกจากนี้อาจพบกระเปาะเล็ก ๆ จากเส้นเลือดโป่งพอง ( microaneurysm ) จุดเลือดออกเล็ก ๆ ในจอประสาทตาหรือจุดรับภาพตรงกลางบวม ( macular edema )
ภาพแสดงการเปลี่ยนแปลงของจอประสาทตาจากความดันโลหิตสูง มีจุดเลือดออกสีแดง มีจุดขาวที่เกิดจากชั้นใยจอประสาทตาขาดเลือด ( cotton wool spot ; ลูกศรสีน้ำเงิน ) ภาพขวาบริเวณลูกศรสีขาวแสดงถึงจุดรับภาพตรงกลางที่บวม
ชั้นใต้จอประสาทตา ( hypertensive choroidopathy ) : การขาดเลือดของชั้นนี้มีผลให้เซลล์ที่กั้นระหว่างชั้น retina และ choroid ตาย และอาจมีผลให้เกิดสารน้ำซึ่งรั่วจากเส้นเลือดในชั้น choroid ไปเซาะใต้จอประสาทตา เกิดจอประสาทตาลอก ( serous retinal detachment )
ขั้วประสาทตา ( hypertensive optic neuropathy ) : เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงขั้วประสาทตามีปัญหา ทำให้การไหลเวียนของกระแสประสาทมีปัญหา พบขั้วประสาทตาบวมได้
บริเวณวงกลมสีดำแสดงถึงขั้วประสาทตาที่บวมซึ่งเห็นขอบเขตของขั้วประสาทตาไม่ชัดเจน
ความดันโลหิตสูงแบบเรื้อรัง ( chronic hypertension )
ชั้นจอประสาทตา ( retina ) เส้นเลือดมีไขมันสะสม ( arteriosclerosis ) ตรวจพบเส้นเลือดขนาดแคบกว่าปรกติ แสงสะท้อนในการตรวจเส้นเลือดเปลี่ยนไปเห็นเส้นเลือดสีเหมือนสีทองแดงหรือสีเงิน อื่น ๆ เช่น พบจุดเลือดออกหรือชั้นใยประสาทตาบางลง ( nerve fiber layer losses )
ภาพแสดงเส้นเลือดแดงที่ตีบแคบ ทางขวาเป็นภาพขยายกรณีที่ความดันโลหิตสูงเรื้อรังจนเส้นเลือดตีบแคบมาก ๆ
ภาพแสดงเส้นเลือดแดงที่ขนาดแคบกว่าปรกติ บริเวณวงกลมสีดำแสดงถึงเส้นเลือดแดงที่มีผนังหนาจากไขมันสะสมไปกดทับเส้นเลือดดำที่อยู่ข้างใต้ ทำให้เส้นเลือดดำมีลักษณะคอดกิ่วตรงที่ถูกกดทับ
ชั้นใต้จอประสาทตา ( choroid ) พบลักษณะสีพื้นผิวไม่สม่ำเสมอ มีการฝ่อของเซลล์บางชั้น
ขั้วประสาทตา สีซีดลงจากปรกติ
โดยทั่วไป ความรุนแรง และระยะเวลาของภาวะความดันโลหิตสูงจะบ่งชี้ถึงโอกาสเกิดความผิดปรกติของเส้นเลือดในจอประสาทตา และพบว่าหากมีภาวะของเบาหวานหรือไขมันในเลือดสูงร่วมด้วยยิ่งเพิ่มโอกาสของการเกิดความผิดปรกติของเส้นเลือดได้
การรักษา
โดยทั่วไปทางจักษุไม่มีการรักษาโดยตรง สิ่งสำคัญ คือ การควบคุมความดันโลหิตซึ่งต้องปรึกษาแพทย์อายุรกรรม เกี่ยวกับวิธีการควบคุมด้วยยา และการปรับเปลี่ยน life style
หากมีการตรวจพบว่าขั้วประสาทตามีความผิดปรกติ การลดความดันโลหิตอย่างรวดเร็วอาจส่งผลเสียทำให้เซลล์ในขั้วประสาทตาตายมากขึ้น ซึ่งกรณีเช่นนี้จักษุแพทย์และอายุรแพทย์จะต้องร่วมกันในการรักษาเพื่อให้ความดันโลหิตลดลงอย่างช้า ๆ โดยไม่มีผลกระทบในทางที่แย่ลงต่อขั้วประสาทตา
สำหรับการปรับเปลี่ยน life style ได้แก่
- การลดการบริโภคอาหารไขมันอิ่มตัว
- ลดการบริโภคแอลกอฮอล์ และอาหารรสเค็มจัด
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งควรอยู่ในคำแนะนำของแพทย์เกี่ยวกับวิธีออกกำลังที่ถูกต้อง
การควบคุมความดันโลหิต นอกจากลดผลกระทบต่อดวงตา ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาที่สมอง หัวใจ รวมถึงไตด้วย