จอประสาทตาผิดปรกติในเด็กคลอดก่อนกำหนด ( Retinopathy of prematurity )

โดย แพทย์หญิง อรทัย สุวรรณพิมลกุล จักษุแพทย์

จอประสาทตาผิดปรกติในเด็กคลอดก่อนกำหนด ( Retinopathy of prematurity : ROP ) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปรกติของเส้นเลือดที่จอประสาทตาในเด็กที่คลอดยังไม่ครบกำหนดครรภ์ ภาวะนี้เป็นได้ตั้งแต่แบบไม่รุนแรง และไม่มีผลต่อการมองเห็นจนกระทั่งเป็นรุนแรงมาก และทำให้เกิดตาบอดในเด็กแรกคลอด เนื่องจากปัจจุบันเด็กคลอดก่อนกำหนดมีโอกาสในการรอดชีวิตมากขึ้น ภาวะนี้อาจพบได้บ่อยขึ้นเช่นกัน

สาเหตุ

ในภาวะปรกติเส้นเลือดที่เลี้ยงจอประสาทตาจะเริ่มงอกเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 16 สัปดาห์ ซึ่งเส้นเลือดจะเริ่มงอกจากบริเวณขั้วประสาทตาออกไปเรื่อย ๆ จนสิ้นสุดที่รอบนอกสุดของจอประสาทตา โดยเส้นเลือดเหล่านี้จะงอกไปสุดรอบจอประสาทตาฝั่งใกล้จมูกเมื่ออายุครรภ์ 32 สัปดาห์ ส่วนฝั่งด้านหางตาจะเจริญจนครบสุดจอประสาทตาที่อายุครรภ์ประมาณ 40 สัปดาห์หรือก็คือครบกำหนดครรภ์นั่นเอง

จอประสาทตาผิดปรกติในเด็กคลอดก่อนกำหนด

ภาพแสดงจอประสาทตาปรกติ โดยเส้นเลือดจะเจริญเติบโตเริ่มต้นงอกจากขั้วประสาทตาออกไป

จอประสาทตาผิดปรกติในเด็กคลอดก่อนกำหนด

ภาพแสดงเส้นการงอกของเส้นเลือดปรกติ ( ซ้าย ) และเส้นเลือดผิดปรกติในภาวะ ROP ( ขวา )

ภาวะจอประสาทตาผิดปรกติในเด็กคลอดก่อนกำหนด ( ROP ) เริ่มต้นจากเส้นเลือดซึ่งอยู่ระหว่างทางในการงอกไปตามจอประสาทตามีการสัมผัสกับออกซิเจนที่มากกว่าปรกติ ซึ่งเส้นเลือดเหล่านี้ยังไม่พัฒนาอย่างสมบูรณ์ ( immature ) เมื่อสัมผัสกับออกซิเจนที่มากทำให้เกิดการหดตัวทั้งที่ยังงอกไปไม่สุดรอบนอกของจอประสาทตา บริเวณที่เส้นเลือดยังงอกไปไม่ถึงจึงเกิดการขาดเลือด และมีการสร้างสารผิดปรกติออกมาเรียกว่า VEGF สารเหล่านี้กระตุ้นให้มีการงอกของเส้นเลือดใหม่ซึ่งเป็นเส้นเลือดที่ผิดปรกติ ก่อให้เกิดปัญหาดึงรั้งจอประสาทตา และทำให้จอประสาทตาหลุดลอกได้ในที่สุด

ROP จะพบได้มากยิ่งขึ้นในอายุครรภ์ที่ยิ่งน้อย โดยการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าในทารกคลอดก่อนกำหนดที่น้ำหนักน้อยกว่า 1250 กรัม มีโอกาสพบ ROP ได้มากกว่า 50 % ดังนั้นอายุครรภ์ และน้ำหนักแรกคลอดถือเป็นปัจจัยหลักสำคัญ ทั่ว ๆ ไปถือว่าเด็กที่น้ำหนักแรกคลอดน้อยกว่า 1500 กรัม หรืออายุครรภ์น้อยกว่า 32 สัปดาห์ มีความเสี่ยงต่อการเกิด ROP

ในเด็กที่ยังไม่ถึงกับตาบอด ภาวะ ROP อาจก่อให้เกิดภาวะสายตาสั้น ตาเข หรือจอประสาทตาลอกในภายหลังได้

ลักษณะของจอประสาทตาผิดปรกติในเด็กคลอดก่อนกำหนด

มีการแบ่งตำแหน่งและความรุนแรงของโรคตามจักษุวิทยาดังนี้

ระยะของโรค

ระยะ 0 : เส้นเลือดยังงอกไม่ครบถึงรอบนอกสุดของจอประสาทตา แต่ตัวเส้นเลือดยังไม่พบลักษณะผิดปรกติ

ระยะ 1 : เห็นเส้นสีขาวบาง ๆ คั่นระหว่างตำแหน่งที่มีเส้นเลือด และบริเวณที่ยังไม่มีเส้นเลือดงอกไปถึง

จอประสาทตาผิดปรกติในเด็กคลอดก่อนกำหนด

ระยะ 2 : เส้นคั่นระหว่างตำแหน่งที่มีเส้นเลือด และบริเวณที่ยังไม่มีเส้นเลือดงอกไปถึงมีการหนาตัวนูนขึ้น

จอประสาทตาผิดปรกติในเด็กคลอดก่อนกำหนด

ระยะ 3 : เส้นคั่นตำแหน่งที่มีเส้นเลือด และบริเวณที่ยังไม่มีเส้นเลือด เริ่มมีเส้นเลือดผิดปรกติงอกขึ้นมา

จอประสาทตาผิดปรกติในเด็กคลอดก่อนกำหนด

ระยะ 4 : เส้นเลือดที่ผิดปรกติดึงรั้งจอประสาทตา ทำให้มีจอประสาทตาลอกบางส่วน

จอประสาทตาผิดปรกติในเด็กคลอดก่อนกำหนด

จอประสาทตาผิดปรกติในเด็กคลอดก่อนกำหนด จอประสาทตาผิดปรกติในเด็กคลอดก่อนกำหนด

ระยะ 5 : จอประสาทตาหลุดลอกทั้งหมด

จอประสาทตาผิดปรกติในเด็กคลอดก่อนกำหนด

ตำแหน่งที่เกิดความผิดปรกติ

จะมีการแบ่งโซนตามการตรวจทางจักษุวิทยา 3 โซน ดังรูป

จอประสาทตาผิดปรกติในเด็กคลอดก่อนกำหนด

ภาพแสดงการแบ่งโซนของจอประสาทตาตามตำแหน่งที่มีพยาธิสภาพ โดยถ้าความผิดปรกติอยู่ในโซน I หรือ II ค่อนข้างอันตราย ควรได้รับการรักษาโดยเร็ว

การรักษา

ในกรณีที่พยาธิสภาพอยู่ในระยะที่ 3 โซน 1 หรือ 2 แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาเพื่อหยุดยั้งไม่ให้มีการงอกมากขึ้นของเส้นเลือดผิดปรกติ เนื่องจากเส้นเลือดเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาดึงรั้งจอประสาทตาให้หลุดลอกได้ โดยการรักษา ได้แก่ การจี้ความเย็นหรือเลเซอร์ที่จอประสาทตา

จอประสาทตาผิดปรกติในเด็กคลอดก่อนกำหนด

หากโรคมีความรุนแรงมากขึ้นโดยมีการหลุดลอกของจอประสาทตาบางส่วน คือ ระยะ 4 แพทย์มักพิจารณาทำการผ่าตัด แต่ผลการผ่าตัดอาจได้ผลไม่แน่นอน เนื่องจากตัวโรคมีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดีอยู่แล้ว สำหรับกรณีที่โรคดำเนินถึงระยะที่ 5 การรักษาจะไม่ได้ผลไม่ว่าจะผ่าตัดหรือไม่ก็ตาม ก็คือเป็นระยะที่ตาบอดแล้วนั่นเอง

การตรวจตา

จอประสาทตาผิดปรกติในเด็กคลอดก่อนกำหนด จอประสาทตาผิดปรกติในเด็กคลอดก่อนกำหนด

  • เด็กคลอดก่อนกำหนดที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 1500 กรัมหรืออายุครรภ์น้อยกว่า 32 สัปดาห์ควรได้รับการตรวจจอประสาทตาโดยจักษุแพทย์ทุกราย บางกรณีที่น้ำหนักอยู่ระหว่าง 1500 - 2000 กรัม หรืออายุครรภ์มากกว่า 32 สัปดาห์ แต่มีปัญหาโรคทางกายอย่างอื่น ๆ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ กุมารแพทย์อาจพิจารณาให้ตรวจตาด้วยเพราะมีโอกาสเกิด ROP ได้เช่นกัน
  • การตรวจตาจะต้องมีการขยายม่านตาเพื่อตรวจจอประสาทตา
  • หากไม่มีภาวะของ ROP แต่เส้นเลือดยังงอกไม่ครบทั่วจอประสาทตา แพทย์จะนัดตรวจตาเป็นระยะ ๆ จนแน่ใจว่าเส้นเลือดงอกเจริญครบตามปรกติ
  • หากเป็นระยะแรก ๆ ที่ไม่รุนแรงก็จะมีการตรวจติดตามว่าตัวโรคจะดีขึ้นเองหรือดำเนินไปในทางที่แย่ลง
  • ถ้าตัวโรคเป็นระยะที่รุนแรงขึ้น คือ ระยะ 3 โซน 1 - 2 แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาดังกล่าวข้างต้น
  • กรณีที่ตัวโรคดำเนินไปถึงระยะที่ 4 - 5 การพยากรณ์โรคมักไม่ดี มีโอกาสที่การมองเห็นจะเรือนลางจนถึงตาบอดได้ ซึ่งถ้าถึงระยะนี้แล้วพ่อแม่อาจต้องเตรียมใจไว้

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

ในเด็กที่เป็นโรค ROP แม้โรคจะไม่ได้ดำเนินถึงระยะ 4 หรือ 5 ก็อาจมีโอกาสเกิดปัญหาอื่น ๆ ในภายหลังได้แม้ได้รับการรักษาแล้วก็ตาม ซึ่งปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่

  1. สายตาสั้นมาก ๆ
  2. ตาเข
  3. ตาขี้เกียจจากสายตาผิดปรกติมาก
  4. ต้อหิน
  5. จอประสาทตาที่เกิดภายหลัง

ข้อแนะนำ

  1. เด็กที่หายจากภาวะ ROP ควรได้รับการตรวจตาเป็นระยะ เพื่อระวังปัญหาแทรกซ้อนที่อาจเกิดภายหลังดังกล่าวข้างต้น
  2. เด็กที่จำเป็นต้องได้รับการเลเซอร์หรือจี้ความเย็น หรือผ่าตัด พ่อแม่ควรเข้าใจว่าการรักษาอาจต้องทำมากกว่า 1 ครั้ง
  3. ปัญหาแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นควรได้รับการรักษาอย่างเต็มที่

คำยืนยันจากผู้ใช้

คุณหน่อง อรุโณชา ภาณุพันธุ์

คุณหน่อง อรุโณชา ภาณุพันธุ์

ผู้สร้างภาพยนตร์ บุพเพสันนิวาส ๒ และ ละครพรหมลิขิต ★ ★ ★ ★ ★

แว่นที่ดี สำคัญมากกับการดำเนินชีวิต ดีใจที่เจอแว่นที่ถูกใจ ก็เหมือนกับบุพเพสันนิวาส ทำให้เราทำงานได้อย่างมีความสุขค่ะ

อ่านต่อ
นายแพทย์ วิชิต ศิริทัตธำรง

นายแพทย์ วิชิต ศิริทัตธำรง

หัวหน้าหน่วยจุลศัลยกรรมโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ ★ ★ ★ ★ ★

ใช้แว่นตาโปรเกรสซีฟอัจฉริยะไอซอพติกแล้ว ทำให้เหนื่อยน้อยลง มีพลังในการทำงานมากขึ้น และมีความสุขเพิ่มขึ้นในการใช้ชีวิต ครับ

อ่านต่อ

รวมคำยืนยันจากผู้ใช้แว่นตาโปรเกรสซีฟอัจฉริยะ 3 มิติ เฉพาะบุคคล อย่างยิ่งยวด สะท้านโลกา

อ่านต่อ

เลนส์แว่นตาไอซอพติก มีจำหน่ายที่
ศูนย์แว่นโปรเกรสซีฟเฉพาะบุคคล ไอซอพติก เท่านั้น
โปรดระวังการแอบอ้าง

go to top
คุณภาพการมองเห็นมีผลกับ คุณภาพชีวิตอย่างไร ?