โดย ดร.ปฐมา เชิดชูเกียรติสกุล
ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจวิเคราะห์ระบบการมองเห็นสามมิติ ( Doctor of Optometry )
สายตาสั้น
สายตาสั้น หมายถึง การที่แสงจากวัตถุหรือสิ่งของที่อยู่ในระยะไกลผ่านเข้ามาในตาของเราแล้ว มีการโฟกัสหรือรวมแสงก่อนที่ถึงจอประสาทตา ทำให้ภาพบนจอประสาทตาไม่โฟกัสหรือเบลอไม่ชัด แต่เมื่อเลื่อนวัตถุนั้นใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ หรือเราเดินเข้าไปใกล้วัตถุนั้นมากขึ้น ภาพที่ผ่านเข้ามาในตาของเราก็จะเลื่อนใกล้จอประสาทตามากขึ้น จนกระทั่งภาพนั้นโฟกัสบนจอประสาทตาพอดี เราก็จะเห็นวัตถุนั้นชัดเจน ดังนั้นสายตาสั้นจึงหมายถึงการที่คน ๆ นั้นสามารถเห็นวัตถุสิ่งของรอบตัวได้ชัดเจนในระยะใกล้ แต่ถ้าวัตถุหรือสิ่งของนั้นอยู่ไกลออกไปก็จะเห็นไม่ชัดเจน ส่วนผู้ที่สายตาสั้นจะมองไกลได้ชัดเจนที่ระยะมากน้อยแค่ไหน ย่อมขึ้นอยู่กับสายตาสั้นว่าเป็นมากน้อยเพียงใด ยิ่งมีสายตาสั้นมากระยะที่จะเห็นได้ชัดเจนจะยิ่งใกล้ตัวมากกว่า ถ้าสายตาสั้นน้อยก็จะสามารถเห็นได้ชัดเจนในระยะที่ไกลมากกว่าคนที่มีสายตาสั้นมาก
จากระยะที่ภาพของวัตถุนั้นตกบนจอประสาทตาพอดีแล้ว ถ้าเรายังเลื่อนวัตถุให้ใกล้เข้ามาอีก ถ้าตาของเราไม่สามารถเพ่งมองหรือ Accommodation ได้ตามปกติ ( Accommodation หมายถึง การที่เลนส์ตาของเราปรับเพิ่มกำลังเลนส์ในการรวมแสงเพื่อปรับระบบโฟกัสโดยอัตโนมัติให้ภาพตกบนจอประสาทตาของเราพอดี ) ภาพของวัตถุนั้นก็จะเริ่มตกเลยจอประสาทตาไป ภาพเริ่มไม่ชัดอีกครั้ง แต่ในความเป็นจริงธรรมชาติของคนเราเลนส์ตาของเราจะปรับเปลี่ยนเอง ทำให้เราสามารถดูสิ่งต่าง ๆ รอบตัวในระยะใกล้ได้ชัดเจน ซึ่งระบบนี้จะเสื่อมประสิทธิ์ภาพลงโดยเฉลี่ย เมื่ออายุมากกว่า 40 ปี
การแก้ไขสายตาสั้นโดยใส่แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ซึ่งเป็นเลนส์เว้า ช่วยกระจายแสงของภาพให้ถึงจอประสาทตาพอดี จึงเห็นภาพของวัตถุที่อยู่ในระยะไกลได้ชัดเจน ส่วนระยะใกล้ระบบ Accommodation ของตาเราจะปรับโฟกัสอัตโนมัติ เพื่อให้สามารถเห็นทุกระยะได้ชัดเจน
สายตายาว
สายตายาว หมายถึง การที่แสงจากวัตถุหรือสิ่งของในระยะไกลผ่านเข้ามาในตาของเราแล้ว โฟกัสหรือรวมแสงเลยจอประสาทตาไปทางด้านหลัง จึงเกิดภาพเบลอไม่ชัดบนจอประสาทตา แต่ธรรมชาติของเลนส์ตาจะมีระบบ Accommodation พยายามช่วยให้สามารถมองไกลได้ชัด ด้วยการปรับเพิ่มกำลังเลนส์ตาโดยอัตโนมัติ เพื่อให้ภาพโฟกัสหรือรวมแสงบนจอประสาทตาพอดี
แต่ความสามารถในการ Accommodation นี้ก็มีขีดจำกัด และขึ้นอยู่กับช่วงอายุของแต่ละคนด้วย หากมีสายตายาวมากหรือดูวัตถุใกล้มากเกินกว่าความสามารถที่เรามีอยู่ เพื่อการเพ่งมองหรือปรับเพิ่มกำลังเลนส์ตาโดยอัตโนมัติ ก็จะมีอาการปวดตา เมื่อยตาหรือปวดศีรษะได้ เราควรแก้ไขสายตายาวด้วยการใส่แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ ซึ่งเป็นเลนส์นูนก็จะช่วยแก้ปัญหาการใช้สายตาในระยะต่าง ๆ ได้
สายตาเอียง
สายตาเอียง เป็นความผิดปกติของสายตา ซึ่งคนทั่วไปจะทำความเข้าใจได้ยากกว่าชนิดอื่น ๆ เพราะมีสาเหตุจากการที่แสงของวัตถุหรือสิ่งของในระยะไกลผ่านเข้ามาในตาของเราแล้ว โฟกัสหรือรวมแสง ในจุดที่แตกต่างกันหรือคนละจุด โดยกำหนดให้มีแกนหลัก 2 แกนตั้งฉากกัน แกนหนึ่งมีค่าความผิดปกติน้อยที่สุดอาจเป็นสายตาสั้นหรือยาวหรือสายตาปกติก็ได้ อีกแกนหนึ่งมีค่าความผิดปกติมากที่สุด อาจเป็นสายตาสั้นหรือยาวก็ได้เช่นเดียวกัน และต้องมีองศาของสายตาเอียงร่วมด้วยเสมอ
สายตาเอียงทำให้เรามองวัตถุหรือสิ่งของรอบตัวไม่คมชัดทั้งในระยะไกล และใกล้ การใส่แว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์จะทำให้ภาพทั้ง 2 แกนตก ณ จุดเดียวกันบนจอประสาทตา เพื่อให้เราสามารถเห็นวัตถุสิ่งของนั้นคมชัดขึ้น
สายตายาวผู้สูงอายุ
สายตายาวผู้สูงอายุ หมายถึง ผู้ที่สามารถดูไกลได้ชัดเจนดีด้วยตาเปล่าหรือโดยใช้แว่นตาดูไกลที่มีอยู่เดิม แต่เมื่อมีอายุมากขึ้นประมาณมากกว่า 40 ปี ก็ไม่สามารถอ่านหนังสือในระยะเดิมได้ ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยการถือหนังสือให้ไกลออกไปมากกว่าปกติจึงจะอ่านได้ เพราะประสิทธิ์ภาพของการปรับโฟกัสอัตโนมัติ ในระบบการเพ่งมองหรือ Accommodation จะลดลงเรื่อย ๆ ตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น
วิธีการแก้ปัญหาที่ดี คือ การใช้แว่นสายตาซึ่งเป็นเลนส์บวกเพื่อชดเชยกำลังเพ่งหรือกำลังของ Accommodation ที่ขาดไป จะช่วยให้เราสามารถอ่านหนังสือหรือทำงานในระยะใกล้ได้ตามต้องการหรือตามปกติ