
ต้อกระจก เป็นหนึ่งในโรคตาที่พบมากในผู้สูงอายุ แต่หลายคนกลับไม่ทราบว่า ตนเองกำลังมีอาการและมักปล่อยไว้จนอาการรุนแรง บทความนี้จะพาคุณไปทำความรู้จักกับต้อกระจก ตั้งแต่สาเหตุ อาการ วิธีรักษา ตลอดจนแนวทางป้องกันเพื่อให้คุณและคนที่คุณรักห่างไกลจากภัยเงียบนี้
ต้อกระจก ( Cataracts ) คืออะไร
ต้อกระจก คือภาวะที่เลนส์ตาเกิดความขุ่นมัว ทำให้แสงไม่สามารถส่องผ่านเข้าไปยังจอประสาทตาได้อย่างสมบูรณ์ เลนส์ตาที่มีความขุ่นนี้จะมีลักษณะแข็งคล้ายไต มีสีขุ่น อาจเกิดตรงกลางหรือขอบเลนส์ตา ส่งผลให้การมองเห็นลดลง เกิดภาพซ้อน หรือบางรายอาจมีอาการคล้ายสายตาสั้น โดยพบมากในกลุ่มผู้สูงอายุ
สาเหตุที่ทำให้เกิดต้อกระจก
-
อายุที่เพิ่มขึ้น เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ โปรตีนในเลนส์ตาจะเริ่มเสื่อมสภาพ ทำให้เลนส์ตาขุ่นมัว
-
ความผิดปกติของพันธุกรรม หรือความผิดปกติขณะตั้งครรภ์ ส่งผลให้เกิดต้อกระจกโดยกำเนิด
-
โรคทางตาและโรคประจำตัว เช่น ต้อหิน ม่านตาอักเสบ เบาหวาน หรือต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ
-
การได้รับรังสี UV ในปริมาณมากและเป็นเวลานาน
-
การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาหดม่านตา ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ หรือยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน
-
เกิดอุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนดวงตาอย่างรุนแรง
อาการต้อกระจกเป็นอย่างไร
-
ตามัวลง มองเห็นไม่ชัดเจน เหมือนมีฝ้าบาง ๆ อยู่ตรงหน้า
-
มองเห็นแสงไฟกระจายแตกเป็นแฉก
-
มองเห็นสีต่าง ๆ ดูจืดจางลง หรือผิดเพี้ยนไปจากเดิม
-
มองเห็นภาพซ้อน
-
ตาสู้แสงสว่างไม่ได้
-
เมื่อต้อกระจกสุกอาจสังเกตเห็นเป็นสีขาวตรงรูม่านตา
ต้อกระจกรักษาได้ไหม
ต้อกระจกเป็นโรคที่สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด โดยนำเลนส์ตาที่ขุ่นออก และใส่เลนส์แก้วตาเทียมที่ใสแทน ซึ่งเลนส์แก้วตาเทียมนี้จะอยู่ในตาได้ตลอดชีวิต ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่ ซึ่งการผ่าตัดมี 2 วิธีหลัก ๆ ได้แก่
-
การผ่าตัดแบบแผลเล็กหรือการสลายต้อกระจก ( Phacoemulsification ) จักษุแพทย์จะใช้เครื่องอัลตราซาวนด์สลายต้อกระจกให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ ก่อนดูดออก ทำให้แผลมีขนาดเพียง 3-5 มิลลิเมตร ไม่ต้องเย็บแผล ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว กลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ในเวลาไม่นาน การมองเห็นจะปรับตัวดีขึ้นอย่างรวดเร็ว วิธีนี้เป็นที่นิยมในปัจจุบัน
-
การผ่าตัดแบบแผลใหญ่ ( Extracapsular Extraction ) จักษุแพทย์จะเปิดแผลขนาดใหญ่กว่า 10 มิลลิเมตรที่ตา แล้วนำเลนส์ตาออกทั้งชิ้น เหมาะสำหรับผู้ที่มีต้อกระจกระยะสุกที่แข็งมาก ๆ จนไม่สามารถใช้เครื่องสลายต้อได้ วิธีนี้ต้องเย็บแผลและใช้เวลาพักฟื้นนานกว่า
ป้องกันอย่างไร ห่างไกลต้อกระจก
-
ผู้ที่มีอายุเกิน 37 ปีควรตรวจสุขภาพตาอย่างน้อยปีละครั้ง
-
สวมแว่นกันแดดเมื่ออยู่กลางแจ้ง เพื่อป้องกันรังสี UV
-
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อดวงตา เช่น ผักใบเขียว ผลไม้สีส้ม-แดง ปลาทะเลที่มีโอเมก้า 3
-
ไม่ใช้สายตาหนักเกินไป พักสายตาเป็นระยะ เพื่อถนอมสายตา
สรุปบทความ
ต้อกระจกเป็นภัยเงียบที่แฝงมากับวัยที่เพิ่มขึ้น แต่ก็สามารถพบได้ในทุกวัยหากมีปัจจัยเสี่ยง โดยปัจจุบันต้อกระจกรักษาได้ด้วยการผ่าตัด ซึ่งมีความปลอดภัยสูงและให้ผลการรักษาที่ดี แต่การป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา ดังนั้น ควรดูแลสุขภาพตา ปกป้องดวงตาจากแสงแดด และตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ เพื่อลดความเสี่ยงของต้อกระจก
สำหรับใครที่มีปัญหาสายตา โดยเฉพาะสายตายาวตามวัยหรือสายตาสั้นร่วมด้วย ศูนย์แว่นตาไอซอพติก ศูนย์แว่นตาโปรเกรสซีฟเฉพาะบุคคล เราให้บริการวัดสายตาประกอบแว่นคุณภาพสูง มีทีมนักทัศนมาตรและจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษา ออกแบบ และวิเคราะห์การใช้สายตาของคุณอย่างละเอียด โดยมีปรมาจารย์โบบิ คอยดูแลทุกขั้นตอนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้คุณได้รับแว่นตาโปรเกรสซีฟที่ใส่สบาย ตอบโจทย์การใช้งาน และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมรับประกันความพึงพอใจสูงสุด 180 วัน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :
ปรมาจารย์โบบิ สายด่วน : 081-538-4200
LINE ID : @isoptik
เว็บไซต์ : https://www.isoptik.com
whatsapp : +66 81-538-4200
อีเมล : isoptik@gmail.com