โดย แพทย์หญิง ณัฐธิดา นิ่มวรพันธุ์ ( จักษุแพทย์ที่ปรึกษาประจำศูนย์แว่นโปรเกรสซีฟเฉพาะบุคคล ไอซอพติก )
โรคศูนย์กลางจอประสาทตาบวมน้ำ คือ โรคที่มีการรั่วซึมของสารน้ำมาสะสมอยู่ใต้ชั้นประสาทตา โรคนี้พบได้บ่อยเป็นอันดับ 4 ของโรคที่มีความผิดปกติที่จอประสาทตา ซึ่งพบในผู้ชายบ่อยกว่าผู้หญิงถึง 6 เท่า และช่วงอายุที่มักเกิดโรคอยู่ในช่วง 25 - 50 ปี
สาเหตุที่แท้จริงนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากการอักเสบ และขาดเลือดของชั้นคอรอยด์ซึ่งอยู่ใต้ชั้นประสาทตา เมื่อมีการอักเสบทำให้สารน้ำสามารถซึมผ่านเข้าไปได้ง่าย และแทรกอยู่ใต้ชั้นประสาทตาตรงบริเวณจุดรับภาพ
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค ได้แก่
- การใช้ยาสเตียรอยด์ ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น การฉีด การรับประทาน หรือการทา
- การตั้งครรภ์
- มีบุคลิกภาพชนิดเอ ( personality type A ) คือ ค่อนข้างเครียด และจริงจังกับชีวิต
- ปัจจัยอื่นที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคกรดไหลย้อน โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ( obstructive sleep apnea ) การดื่มสุรา เป็นต้น
อาการของโรคนี้ ได้แก่
- ตามัวลง
- มองเห็นความสว่างของภาพลดลง ลักษณะคล้ายมองผ่านแว่นตาสีชา
- การเห็นสีต่าง ๆ จะเพี้ยนไป
- เห็นวัตถุขนาดเล็กกว่าความเป็นจริง หรือภาพบิดเบี้ยวไป
การรักษา
- หากมีอาการครั้งแรก ให้ลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่มีอยู่ และทำการตรวจติดตามอาการเป็นระยะ เนื่องจากภาวะนี้มีโอกาสหายเองได้ถึง 80 - 90 % ภายใน 1 - 3 เดือน
- มี 3 กรณีที่จะพิจจารณารักษาด้วยวิธี ยิงเลเซอร์ หรือฉีดยาเข้าน้ำวุ้นตา ได้แก่
- หากไม่หายเองภายใน 3 เดือน
- เคยเป็นแล้ว และมีการสูญเสียการมองเห็นไปบางส่วน
- จำเป็นต้องใช้สายตาในการประกอบอาชีพ เช่น นักบิน นักเจียรไนเพชร เป็นต้น