โดย แพทย์หญิง ณัฐธิดา นิ่มวรพันธุ์ ( จักษุแพทย์ที่ปรึกษาประจำศูนย์แว่นโปรเกรสซีฟเฉพาะบุคคล ไอซอพติก )
ต่อมไขมันที่เปลือกตา ( meibomian gland ) คือ ต่อมไขมันเล็ก ๆ เรียงอยู่บริเวณโคนขนตา ซึ่งมีจำนวน 30 - 40 ต่อมที่เปลือกตาบน และ 20 - 30 ต่อมที่เปลือกตาล่าง ทำหน้าที่ขับไขมันออกมาเคลือบผิวนอกของตา เพื่อช่วยป้องกันการระเหยของน้ำตา และรักษาสมดุลทำให้ตาของเรามีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ
โดยปกติไขมันที่สร้างจากต่อมไขมันที่เปลือกตาจะมีลักษณะสีเหลืองใส สามารถไหลออกจากต่อมโดยง่าย ถ้าต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติ ( Meibomian gland dysfunction ) ไขมันที่สร้างออกมาจะมีลักษณะขุ่น และเหนียวข้นขึ้น เนื่องจากส่วนประกอบที่ผิดปกติไป ทำให้คุณสมบัติในการป้องกันการระเหยของน้ำตาลดลง ส่งผลให้เกิดภาวะตาแห้ง และจากการที่ไขมันเหนียวข้นขึ้นนั้นทำให้เกิดการอุดตันท่อทางออกของต่อมที่อยู่บริเวณขอบเปลือกตา และไขมันที่แห้งเกาะอยู่บริเวณขอบเปลือกตายังทำให้เกิดการระคายเคืองตาอีกด้วย
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติ ได้แก่
- โรคทางตา เช่น เปลือกตาอักเสบเรื้อรัง โรคริดสีดวงตา
- โรคทางกาย เช่น วัยทอง ขาดฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจน ภูมิแพ้ เอสแอลอี
- ผลข้างเคียงจากยา เช่น ยาแก้แพ้ ยารักษาโรคซึมเศร้า ฮอร์โมนที่ใช้รักษาวัยทอง
- สิ่งแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ ความชื้น การใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน การใส่คอนแทคเลนส์ การใช้เครื่องสำอางบริเวณขอบตา และเปลือกตา
อาการผิดปกติที่พบเมื่อต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติ ได้แก่
- ตาแห้ง แสบตา เจ็บตา ตาแดง บางครั้งตาสู้แสงไม่ได้ ซึ่งอาการมักเป็นมากตอนตื่นนอน
- คันตาระคายเคืองตาเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา
- ตาพร่ามัวเป็นบางครั้ง แต่เมื่อกระพริบตาแล้วอาการดีขึ้น
- ใส่คอนแทคเลนส์ไม่ได้
- เป็นตากุ้งยิงบ่อย
การรักษาภาวะต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติ
- หยอดน้ำตาเทียม เพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นให้กับดวงตา
- การดูแลเปลือกตา ( lid hygiene ) เป็นสิ่งที่สำคัญ และจำเป็นมาก ควรทำวันละ 1 - 2 รอบ แต่ละรอบประกอบด้วย 3 ขั้นตอนดังนี้
- การประคบอุ่นบนเปลือกตา ( Eyelid warming )
จะช่วยให้ไขมันที่เหนียวข้น และอุดตันท่อทางออกของต่อมไขมันละลายตัว และขับออกมาจากต่อมได้ดีขึ้น วิธีการ คือ ใช้อุปกรณ์ เช่น เจลร้อน ไข่ต้ม ข้าวสวยร้อนในถุงพลาสติก ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่น เป็นต้น วางประคบบนเปลือกตาทั้งสองข้างเป็นเวลา 5 - 15 นาที ถ้าหายร้อนเร็วควรทำให้ร้อนใหม่แล้วนำไปประคบต่อให้ครบเวลา ระวังไม่ให้ร้อนเกินไปจนเกิดแผลพุพอง
- การนวดเปลือกตา ( mechanical massage of the eyelids )
เพื่อกดไขมันที่อุดตันอยู่ภายในต่อมให้ออกมา วิธีการ คือ ใช้นิ้วมือดึงหางตาให้เปลือกตาตึง และใช้นิ้วของมืออีกข้างในการนวดเปลือกตา เมื่อจะนวดเปลือกตาบนให้มองลงล่าง และใช้นิ้วนวดจากบนลงล่าง หากจะนวดเปลือกตาล่างให้มองขึ้นบน และใช้นิ้วนวดจากล่างขึ้นบน โดยออกแรงกดพอสมควร และเริ่มนวดจากหัวตาไปสู่หางตา เพื่อที่จะได้นวดต่อมไขมันที่เรียงอยู่บริเวณโคนขนตาได้ตลอดแนวยาวของเปลือกตา
- การทำความสะอาดขอบเปลือกตา ( lid cleansing )
เพื่อไม่ให้เป็นบ่อเกิดของเชื้อโรค วิธีการ คือ ใช้ไม้พันสำลี หรือสำลีชนิดแผ่นชุบด้วยน้ำอุ่นที่ผสมกับยาสระผมสำหรับเด็กอ่อน หรือน้ำยาเฉพาะสำหรับทำความสะอาดเปลือกตาโดยเช็ดบริเวณขอบเปลือกตา และโคนขนตาให้สะอาด
เมื่อหยอดน้ำตาเทียมร่วมกับดูแลเปลือกตาด้วยวิธีการดังกล่าวข้างต้นแล้วยังไม่ดีขึ้นควรเข้าพบจักษุแพทย์ ซึ่งอาจต้องรักษาเพิ่มโดย
- หยอด หรือป้ายยาปฏิชีวนะ เพื่อช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่สะสมบริเวณต่อมไขมันที่เปลือกตา เพราะแบคทีเรียมักทำให้ต่อมไขมันที่เปลือกตามีการอักเสบมากขึ้น
- รับประทานยากลุ่มเตตราไซคลิน ( Tetracyclin ) เพื่อช่วยลดจำนวนแบคทีเรีย และลดการอักเสบบริเวณต่อมไขมันที่เปลือกตา
- หยอดยากลุ่มสเตียรอยด์ ซึ่งจะใช้เฉพาะกรณีที่กระจกตา และเปลือกตามีการอักเสบมากเท่านั้น จะใช้เป็นระยะเวลาสั้น ๆ และต้องระวังผลแทรกซ้อนของยา คือ ทำให้ความดันลูกตาสูงขึ้น และเป็นต้อหินได้
- การรับประทานกรดไขมันโอเมก้า 3 มีรายงานว่าสามารถช่วยลดการอักเสบในโรคนี้ได้