โดย แพทย์หญิง ณัฐธิดา นิ่มวรพันธุ์ ( จักษุแพทย์ที่ปรึกษาประจำศูนย์แว่นโปรเกรสซีฟเฉพาะบุคคล ไอซอพติก )
ต้อเนื้อ และต้อลมพบได้บ่อยในประเทศไทย ต้อทั้งสองชนิดเกิดจากสาเหตุเดียวกัน คือ รังสีอัลตราไวโอเลต หรือ รังสียูวี ซึ่งพบมากในแสงแดด เมื่อเยื่อบุตาสัมผัสกับรังสียูวีเป็นเวลานาน จะก่อให้เกิดปฏิกิริยาการเสื่อมของเยื่อบุตาจึงเกิดต้อทั้งสองชนิดนี้ขึ้น
ต้อลม จะมีลักษณะเป็นก้อนขาว หรือเหลือง นูนเล็กน้อย อยู่บริเวณเยื่อบุตาข้างตาดำ พบได้ทั้งด้านหัวตา และหางตา แต่จะไม่ยื่นเข้าตาดำ
ต้อเนื้อ จะมีลักษณะเป็นเนื้อเยื่อรูปสามเหลี่ยม สีค่อนข้างแดง ยื่นเข้าไปในตาดำ บริเวณหัวตาหรือหางตา
ต้อทั้งสองชนิด มักไม่ก่อให้เกิดอาการอะไร ยกเว้นเมื่อมีการอักเสบจะมีอาการระคายเคืองตา น้ำตาไหลได้ ในต้อเนื้อจะมีบางส่วนยื่นเข้าตาดำ อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของค่าความโค้งของกระจกตาจะส่งผลให้เกิดสายตาเอียง และทำให้ตามัวลงได้เล็กน้อย แต่ถ้ายื่นเข้าตาดำมากจนบังรูม่านตาจะทำให้ตามัวลงมากได้
การรักษา
- หากมีเพียงอาการระคายเคือง สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยยาหยอดตา แต่ยาหยอดตาไม่ทำให้ต้อหายไป
- ในกรณีที่ต้อเนื้อยื่นเข้าไปในตาดำมากแล้ว แพทย์จะแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัดลอกต้อเนื้อออก
- การสวมแว่นตากันแดดอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยป้องกันการเกิดขึ้นใหม่ หรือลุกลามมากขึ้นของต้อทั้งสองชนิดได้