โดย แพทย์หญิง ณัฐธิดา นิ่มวรพันธุ์ ( จักษุแพทย์ที่ปรึกษาประจำศูนย์แว่นโปรเกรสซีฟเฉพาะบุคคล ไอซอพติก )
ในชีวิตประจำวันของเราทุกคนต้องสัมผัสกับสารเคมีอยู่ตลอดเวลา เช่น น้ำกรดในแบตเตอรี่รถยนต์ น้ำยาล้างห้องน้ำ ยาฆ่าแมลง เป็นต้น จึงมีโอกาสพลาดพลั้งกระเด็นเข้าตาได้
ซึ่งเมื่อสารเคมีเข้าตาจะก่อให้เกิดความเสียหายกับดวงตามากน้อยแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
- ชนิดของสารเคมี โดยสารเคมีที่มีฤทธิ์เป็นด่างจะรุนแรงกว่ากรด เนื่องจากด่างสามารถซึมทะลุกระจกตาเข้าไปทำลายส่วนต่าง ๆ ภายในลูกตาได้ แต่กรดเมื่อสัมผัสกับโปรตีนที่ผิวกระจกตาจะเกิดเป็นตะกอนแข็งจะช่วยป้องกันไม่ให้กรดซึมลึกเข้าสู่ภายในลูกตา จึงก่อให้เกิดความเสียหายน้อยกว่า
- ความเข้มข้น และปริมาณของสารเคมีที่เข้าตา ถ้าสารเคมีเข้มข้นมากหรือเข้าตาปริมาณมาก ก็จะเกิดความเสียหายมากตามไปด้วย
- ระยะเวลาที่สารเคมีสัมผัสผิวตา ยิ่งสัมผัสอยู่นาน ความเสียหายก็ยิ่งสูงขึ้น

เมื่อสารเคมีที่ไม่รุนแรงเข้าตา อาจก่อให้เกิดเพียงเยื่อบุตาอักเสบหรือผิวกระจกตาถลอกเท่านั้น แต่ถ้าสารเคมีที่รุนแรง จะขึ้นอยู่กับว่าสารเคมี ซึมเข้าสู่ภายในดวงตา และทำลายส่วนใดของดวงตาบ้าง เช่น
- ทำลายต่อมน้ำตาที่อยู่บริเวณเยื่อบุตาทำให้เกิดภาวะตาแห้ง
- ทำลายกระจกตา ทำให้กระจกตาซึ่งแต่เดิมใสเกิดเป็นฝ้าขาว
- ทำลายเซลล์ต้นกำเนิดของผิวกระจกตา ทำให้เกิดแผลถลอกที่ผิวกระจกตาเรื้อรัง และหากมีการติดเชื้อตามมาอาจทำให้กระจกตาทะลุได้
- ทำลายม่านตา และบริเวณมุมตา จะก่อให้เกิดม่านตาอักเสบ หรือต้อหิน
- ทำลายเลนส์ตา ทำให้เกิดต้อกระจก
- สามารถก่อให้เกิดการอักเสบภายในดวงตาทั้งหมด และตาบอดในที่สุดได้
ดังนั้น ทันทีที่สารเคมีเข้าตา ต้องรีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดให้เร็วที่สุด และมากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ หลังจากนั้นรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูความเสียหายที่เกิดขึ้น และรักษาตามขั้นตอนต่อไป

http://www.oculist.net/downaton502/prof/ebook/duanes/pages/v4/v4c028.html
ข้อควรระวัง คือ อย่าได้นำกรดมาล้างด่างหรือนำด่างมาล้างกรดที่เข้าตาเด็ดขาด เพราะจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาที่รุนแรง และทำลายดวงตามากยิ่งขึ้น ไม่ว่ากรดหรือด่างเข้าตา ให้ล้างด้วยน้ำสะอาดเท่านั้น
สิ่งที่ง่ายที่สุดที่ทุกคนทำได้ คือ การป้องกัน โดยการสวมแว่นตาหากจะทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับสารเคมีต่าง ๆ เพื่อจะได้ลดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายกับดวงตา