โดย แพทย์หญิง ณัฐธิดา นิ่มวรพันธุ์ ( จักษุแพทย์ที่ปรึกษาประจำศูนย์แว่นโปรเกรสซีฟเฉพาะบุคคล ไอซอพติก )
ตาขี้เกียจนั้นเป็นภาวะที่มีการมองเห็นซึ่งผิดปกติมาตั้งแต่เกิด โดยตรวจไม่พบความผิดปกติในทางโครงสร้างของดวงตา สามารถเกิดขึ้นกับตาเพียงข้างเดียว หรือทั้งสองข้างก็ได้ ซึ่งจะพบเฉพาะในเด็กเท่านั้น ถึงแม้จะพบในภายหลังก็เกิดจากมีภาวะนี้ตั้งแต่ตอนเด็กทั้งสิ้น
เด็กแรกเกิดแม้จะมีดวงตาที่ปกติแต่จะยังมองเห็นไม่ชัดเจน แต่จะค่อย ๆ เห็นชัดขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อมีแสงจากวัตถุไปกระตุ้นจอประสาทตา และส่งสัญญาณไปกระตุ้นยังสมองให้รับรู้ภาพที่ชัดเจน ซึ่งระดับสายตาใกล้เคียงกับผู้ใหญ่ เมื่ออายุ 4 - 5 ปี ดังนั้นหากในช่วงเวลานี้มีสิ่งไปขัดขวางขบวนการดังกล่าว ทำให้จอประสาทตา และสมองไม่มีการเรียนรู้ว่าการมองเห็นที่ชัดเจนว่าเป็นอย่างไร การมองเห็นจึงไม่ชัดเจนเท่าตาอีกข้าง หรือไม่เท่าคนปกติทั่วไป คือ เกิดภาวะตาขี้เกียจนั่นเอง
สาเหตุที่ทำให้เกิดตาขี้เกียจ ได้แก่
- ตาเข เมื่อเกิดตาเข ตาข้างที่ดีมองเห็นภาพภาพหนึ่ง ส่วนตาข้างที่เขจะมองเห็นภาพอีกภาพหนึ่ง ถ้ามองด้วยทั้งสองตาจะเกิดภาพซ้อน สมองจึงเลือกมองจากตาเพียงข้างเดียว ทำให้ตาอีกข้างหนึ่งที่ไม่ได้ใช้งานจะการมองเห็นน้อยลง และมองไม่ชัดในที่สุด
- สายตาผิดปกติ อาจจะเป็นสายตาทั้ง 2 ข้างมีความแตกต่างกันมาก ซึ่งตาข้างที่ผิดปกติมากกว่ามักจะเกิดภาวะตาขี้เกียจ หรือสายตาผิดปกติมากทั้ง 2 ข้าง มักจะเกิดภาวะตาขี้เกียจขึ้นทั้งสองตา
- มีโรคตาที่ขัดขวางการมองเห็น เช่น ต้อกระจกตั้งแต่กำเนิด หนังตาตกจนปิดตาดำ
การรักษา ควรรักษาทันทีที่ตรวจพบ และก่อนอายุ 7 ปี มักจะได้ผลดี ซึ่งการรักษานั้น ได้แก่
- หากมีโรคตาที่ขัดขวางการมองเห็น ต้องทำการรักษา เช่น ผ่าตัดต้อกระจก หรือผ่าตัดแก้ไขภาวะหนังตาตก
- แก้ไขสายตาที่ผิดปกติ โดยการใส่แว่นตา หรือใส่คอนแทคเลนส์ เพื่อให้เห็นภาพชัดที่สุด
- ปิดตาข้างที่ดีไว้ เพื่อกระตุ้นตาที่ขี้เกียจให้กลับมามองเห็นชัดขึ้น
- ตาขี้เกียจนั้นสามารถรักษาให้กลับมาเห็นเป็นปกติได้ หากเริ่มรักษาก่อนอายุ 7 ปี ดังนั้น พ่อแม่ควรหมั่นสังเกตอาการต่าง ๆ ของลูก เช่น มีตาเข หรือไม่ ต้องหรี่ตามองสิ่งต่าง ๆ ให้รีบพาไปพบจักษุแพทย์ทันทีเพื่อป้องกันการเกิดตาขี้เกียจ