โดย แพทย์หญิง ณัฐธิดา นิ่มวรพันธุ์ ( จักษุแพทย์ที่ปรึกษาประจำศูนย์แว่นโปรเกรสซีฟเฉพาะบุคคล ไอซอพติก )
คำว่า " ต้อหิน " นั้น ไม่ได้หมายถึงมีหินอยู่ในดวงตา แต่เนื่องมาจากโรคนี้มีความดันในลูกตาสูงกว่าปกติ เมื่อใช้นิ้วคลำดูจะรู้สึกว่าแข็งกว่าปกติ จึงเปรียบว่าแข็งเหมือนหินนั่นเอง
ต้อหิน สามารถแบ่งง่าย ๆ คือ ต้อหินเฉียบพลันและต้อหินเรื้อรัง ในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะ ต้อหินเฉียบพลันเท่านั้น
ต้อหินเฉียบพลัน เกิดจาก การไหลเวียนของน้ำในลูกตาเกิดติดขัดขึ้นทันที จากการที่มีช่องหน้าม่านตาที่แคบ และตื้นกว่าปกติ ทำให้รูระบายน้ำออกจากตาซึ่งอยู่บริเวณมุมตาแคบไปด้วย เมื่อมีภาวะที่ทำให้รูม่านตาขยายตัว เช่น อยู่ในที่แสงน้อย มีอารมณ์โกรธ หรือได้รับการหยอดยาขยายม่านตา จะส่งผลให้เกิดการอุดกลั้นรูระบายน้ำออกขึ้นทันที น้ำจึงคั่งอยู่ในลูกตา ความดันตาจึงสูงขึ้นจากปกติ 10 - 20 มิลลิเมตรปรอท เป็น 50 - 60 มิลลิเมตรปรอท จึงเกิดอาการต่าง ๆ คือ
- ตาแดง
- ปวดตามาก บางครั้งปวดจนปวดศรีษะไปทั้งซีก หรือ มีคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
- ตามัว หรือ เห็นแสงรุ้งรอบดวงไฟ
คนที่มีความเสี่ยงจะเกิดต้อหินเฉียบพลัน ได้แก่
- ผู้หญิง
- อายุมาก ( มักพบเมื่ออายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป )
- ชาวเอเชีย
- มีคนในครอบครัวเป็นต้อหินเฉียบพลัน
- เป็นต้อกระจกที่เป็นมากแล้วแต่ไม่ได้รับการผ่าตัด
- ได้รับอุบัติเหตุจนเลนส์แก้วตาเคลื่อนไปจากเดิม
การรักษา
หากมีอาการ ตาแดง ปวดตา ตามัวลง ซึ่งเป็นอาการของต้อหินเฉียบพลัน ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรีบพบจักษุแพทย์ในทันที จักษุแพทย์จะรักษาด้วยการให้ยาลดความดันตาทั้งรูปแบบยาหยอดตา และยารับประทาน ตามด้วยการยิงเลเซอร์เพื่อเจาะรูที่ม่านตาในตาทั้ง 2 ข้างเนื่องจากเมื่อเกิดต้อหินเฉียบพลันในตาข้างหนึ่งแล้ว มักเกิดในตาอีกข้างหนึ่งตามมาในเวลาห่างกันไม่นาน จึงยิงเลเซอร์เพื่อป้องกันไว้เลย
หากผู้ป่วยมาพบจักษุแพทย์ช้าเกินไป การรักษาข้างต้นอาจทำไม่สำเร็จ ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งในบางรายอาจสูญเสียการมองเห็นอย่าถาวรได้
ดังนั้นเมื่ออายุมากกว่า 40 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ ควรตรวจสุขภาพตา และความดันลูกตาเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หากตรวจพบว่ามีภาวะที่เสี่ยงที่จะเกิดต้อหินเฉียบพลัน การป้องกันด้วยการยิงเลเซอร์เพื่อเจาะรูที่ม่านตาจะสามารถป้องกันการเกิดโรคนี้ได้
A : ในภาวะปกติ น้ำในลูกตาจะสร้างที่เนื้อเยื่อซึ่งมีชื่อว่า ciliary body แล้วไหลผ่านหน้าเลนส์แก้วตา ออกมาที่ช่องหน้าม่านตา แล้วไหลออกจากตาทางรูระบายน้ำออก ( trabecular meshwork ) ซึ่งอยู่บริเวณมุมตา ( angle )
B : ในโรคต้อหินเฉียบพลัน มีช่องหน้าม่านตาที่แคบ และตื้นกว่าปกติจากหลายสาเหตุ เมื่อมีภาวะที่ทำให้รูม่านตาขยายตัว ทำให้ม่านตาถูกดันไปติดกับกระจกตา ( cornea ) ทำให้รูระบายน้ำออกจากตาซึ่งอยู่บริเวณมุมตาแคบ และถูกปิดไปด้วย น้ำจึงคั่งอยู่ในลูกตา ความดันตาจึงสูงขึ้น
รูปที่ 3 และ 4 การยิงเลเซอร์เพื่อเจาะรูม่านตา จะยิงบริเวณใกล้ ๆ มุมตา เพื่อให้น้ำที่สร้างขึ้นสามารถไหลไปสู่รูระบายน้ำออกจากตาได้โดยตรง และมุมตาบริเวณอื่นก็จะเปิดกว้างขึ้นด้วย