โดย แพทย์หญิงณัฐธิดา นิ่มวรพันธุ์ ( จักษุแพทย์ที่ปรึกษาประจำศูนย์แว่นโปรเกรสซีฟเฉพาะบุคคล ไอซอพติก )
ในปัจจุบันยังมีความเข้าใจผิดในเรื่องของภาวะตาบอดสี ส่งผลทำให้คนที่มีภาวะตาบอดสีขาดโอกาสในการขับรถ การเข้าศึกษาหรือทำงานในบางสาขาวิชาชีพ และบางคนเข้าใจว่าภาวะตาบอดสี คือ ไม่สามารถมองเห็นสีใดได้เลย ซึ่งในความเป็นจริงนั้นเพียงแค่เห็นสีเพี้ยนไปจากสีที่เป็นจริงเท่านั้น ส่งผลให้มีความสับสนในบางแถบสีหรือไม่สามารถแยกสีที่มีความคล้ายคลึงกันได้ แต่คนที่มีภาวะตาบอดสีส่วนใหญ่สามารถบอกสีของไฟจราจรได้ถูกต้อง ถึงแม้สีที่เห็นจะแตกต่างจากคนปกติ เนื่องจากได้รับการสอนตั้งแต่เด็กว่าสีที่เห็นนั้นเรียกว่าสีอะไร ส่วนคนที่มีภาวะตาบอดสีอย่างรุนแรงจนเห็นทุกอย่างเป็นสีขาวดำนั้นพบได้น้อยมาก
ภาวะตาบอดสีแบ่งได้ 2 กลุ่ม
- ภาวะตาบอดสีตั้งแต่กำเนิด ( congenital color vision defects ) กลุ่มนี้จะมีการมองเห็นสีที่ผิดไปจากปกติ โดยจะมีอาการเหมือนกันในตาทั้งสองข้างตั้งแต่เกิด และอาการจะคงที่ตลอดชีวิต สามารถพบในเพศชายประมาณ 8% แต่พบในเพศหญิงเพียง 0.4% เท่านั้น เนื่องมาจากภาวะตาบอดสีในกลุ่มนี้มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากแม่สู่ลูกผู้ชาย ส่วนลูกผู้หญิงมักเป็นเพียงพาหะของโรค ( x-link recessive )
- ภาวะตาบอดสีที่เป็นภายหลัง ( acquired color vision defects ) กลุ่มนี้จะมีการมองเห็นสีที่ผิดปกติหลังจากที่เคยเห็นสีเป็นปกติมาก่อน ซึ่งในตาทั้งสองข้างความผิดปกติอาจไม่เท่ากัน สาเหตุมักเกิดจากโรคทางจอประสาทตา เส้นประสาทตา และสมองในส่วนที่รับรู้การมองเห็น
สาเหตุของภาวะตาบอดสี
ในจอประสาทตาปกติของคนเราจะมีเซลล์ที่ทำให้เรามองเห็นสีต่าง ๆ อยู่ 2 ชนิดได้แก่
- เซลล์รูปแท่ง ( rod cell ) ทำหน้าที่ในการมองเห็นวัตถุในที่สลัวหรือที่มีแสงน้อย แต่ภาพที่เห็นจะมีลักษณะเป็นสีขาวดำ
- เซลล์รูปกรวย ( cone cell ) เป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่ในการมองเห็นวัตถุเป็นสีต่าง ๆ ซึ่งจะทำงานเฉพาะในที่สว่าง โดยเซลล์รูปกรวยนี้มี 3 ชนิด คือ เซลล์รูปกรวยสีแดง ( red cone ) เซลล์รูปกรวยสีเขียว ( green cone ) และเซลล์รูปกรวยสีน้ำเงิน ( blue cone ) เมื่อมีแสงสะท้อนจากวัตถุเข้าสู่ตาจะไปกระตุ้นการทำงานของเซลล์ประสาททั้งสามชนิด ให้ส่งสัญญาณไปยังสมองเพื่อผสมผสาน และแปลสัญญาณออกมาเป็นสีต่าง ๆ หากมีเซลล์ชนิดใดขาดหายไปหรือทำงานได้น้อยกว่าปกติจะส่งผลให้เห็นสีเพี้ยนไปจากคนทั่วไป ซึ่งเรียกว่า ภาวะตาบอดสี
การวินิจฉัยภาวะตาบอดสี
เริ่มจากการคัดกรองว่ามีภาวะตาบอดสีหรือไม่ ด้วยการตรวจโดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Ishihara chart เป็นแผ่นภาพบนพื้นสีต่าง ๆ โดยจะมีสีที่คนที่มีภาวะตาบอดสีอาจสับสน เมื่อตรวจพบว่ามีภาวะตาบอดสีจึงจะส่งตรวจเพิ่มเติมว่าเป็นตาบอดสีอะไร และมีความรุนแรงระดับไหน ถ้ารุนแรงน้อยจะไม่มีปัญหาในการประกอบอาชีพ แต่ถ้าอยู่ในระดับปานกลาง และรุนแรงจะมีข้อจำกัดในบางอาชีพ เช่น เภสัชกร ทหาร ตำรวจ ผู้บังคับจราจรทางอากาศ พยาธิแพทย์ เป็นต้น
การรักษา
กลุ่มที่มีภาวะตาบอดสีตั้งแต่กำเนิด ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาใดที่ได้ผล แต่บางครั้งอาจใช้แว่นที่มีเลนส์ช่วยกรองแสงบางสีออกไป เพื่อช่วยให้สามารถแยกสีต่าง ๆ ได้ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ไม่สามารถเห็นสีเหมือนคนปกติได้ กลุ่มที่มีภาวะตาบอดสีที่เป็นภายหลังนั้น การดูแลรักษา คือ รักษาโรคที่เป็นสาเหตุ ซึ่งอาจป้องกันไม่ให้เกิดความผิดปกติอย่างถาวรได้