โดย แพทย์หญิง นุชรี ปริวิสุทธิ์
( จักษุแพทย์ที่ปรึกษาประจำศูนย์แว่นโปรเกรสซีฟเฉพาะบุคคล ไอซอพติก )
ก่อนอื่นเลยต้องกล่าวถึงต้อกระจกเป็นอันดับแรก ต้อกระจกคือภาวะที่เลนส์ตาหรือแก้วตาเสื่อมสภาพลง ทำให้เลนส์ตามีลักษณะขุ่น เป็นสีเหลืองน้ำตาลหรือขาวมากขึ้นกว่าปกติ บดบังแสงที่จะผ่านเข้าสู่ดวงตา ส่งผลให้มีสายตาพร่ามัวมองภาพไม่ชัดเจนคล้ายมีหมอกบัง ดังภาพ
ต้อกระจกโดยส่วนใหญ่ประมาณ 80 เปอร์เซนต์นั้นสัมพันธ์กับอายุที่มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามมีภาวะบางอย่างที่ส่งผลให้เกิดต้อกระจกเร็วมากขึ้นเช่น โรคเบาหวาน การถูกกระทบกระเทือนบริเวณดวงตา หรือการทานยาบางชนิด โดยอาการแสดงที่มาพบจักษุแพทย์มักจะเป็นปัญหาด้านการมองเห็นที่แย่ลง ตาพร่ามัวจนไปถึงภาวะสายตาเลือนลาง หากปล่อยไว้จนต้อกระจกเข้าสู่ระยะสุก ( บางทีเรียกกันว่า " ต้อสุก " )
และจากการสำรวจขององค์การอนามัยโลกพบว่าต้อกระจกเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสายตาเลือนลางเป็นอันดับต้นๆของประชากรในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การรักษาต้อกระจกในปัจจุบันนั้น มีการรักษาที่เป็นมาตรฐาน มีประสิทธิภาพและปลอดภัยคือ การสลายต้อกระจกด้วยวิธี phacoemulsification และใส่เลนส์ตาเทียม การรักษาสามารถฟื้นฟูการมองเห็นให้กลับมาใกล้เคียงเทียบเท่ากับคนปกติ แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กทำให้แผลหายไว แต่อย่างไรก็ตามต้อกระจกเองก็สามารถทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่อันตรายมาก หนึ่งในนั้นคือ " โรคต้อหิน "
โรคต้อหิน โรคนี้เป็นโรคที่ทำลายเส้นประสาทดวงตาอย่างช้าๆ ตรวจววัดค่าความดันลูกตาจะพบว่าสูงกว่าปกติและที่สำคัญคือส่วนมากจะ ไม่มีอาการ กว่าจะแสดงอาการก็มักจะเป็นช่วงท้ายของโรคเสียแล้ว หลายคนจึงเรียกโรคนี้ว่า ภัยเงียบที่ทำลายการมองเห็น ต้อหินสามารถแบ่งสาเหตุของโรคได้เป็นสองชนิด
1.ชนิดที่เกิดขึ้นมาเองโดยไม่มีสาเหตุชักนำ กับ
2.ชนิดที่เกิดจากภาวะอื่นนำมาก่อน อย่างเช่นต้อกระจก
ต้อกระจกกับต้อหินจึงเป็นภาวะที่มีความสัมพันธ์กัน เมื่อเลนส์ตาของคนเราแก่หรือสุก เลนส์จะมีการบวมและขยายขนาดขึ้นกว่าปกติจนไปเบียดปิดทางระบายน้ำในลูกตา ทำให้ไม่สามารถระบายน้ำในลูกตาออกได้เท่ากับปกติ มีผลให้ความดันภายในลูกตาสูงขึ้น เกิดเป็นโรคต้อหินตามมา จากที่กล่าวมาข้างต้นภาวะต้อกระจกและต้อหินสามารถทำให้การมองเห็นแย่ลงจนถึงภาวะสูญเสียการมองเห็นได้ หากปล่อยไว้นานและไม่ทำการรักษาอย่างถูกวิธี ดังนั้นการมาพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจตาจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยเฉพาะคนที่มีอาการตาพร่ามัว ปวดตา และมีคนภายในครอบครัวหรือญาติสายตรงเป็นโรคต้อหิน