โดย แพทย์หญิง ณัฐธิดา นิ่มวรพันธุ์ ( จักษุแพทย์ที่ปรึกษาประจำศูนย์แว่นโปรเกรสซีฟเฉพาะบุคคล ไอซอพติก )
หากท่านมีขนตาร่วง บริเวณโคนขนตามีขุย เปลือกตาของท่านอาจจะมีไรขนตาอยู่มากเกินไป จนทำให้เกิดอาการเหล่านี้ได้ มาทำความรู้จักกับไรขนตากัน
ไรขนตา เป็นเห็บชนิดหนึ่ง ที่พบบนร่างกายมนุษย์ มี 2 สายพันธุ์ คือ Demodex folliculorum จะอยู่ที่รูขุมขน และ Demodex brevis พบที่ต่อมไขมันที่โคนขนตา ขนตาแต่ละเส้นอาจมีไรขนตาอยู่ถึง 25 ตัว จะขยับตัวในที่มืด ถ้าเจอแสงมันจะมุดเข้าไปลึกลงในรูขุมขน ทำให้เวลาตรวจอาจจะไม่พบตัว ตัวที่อยู่โคนขนตาจะกินเซลล์ขน ส่วนตัวที่อยู่ตรงต่อมไขมันก็จะกินไขมันเป็นอาหาร
โดยปกติแล้วเราจะมีไรขนตาอยู่เกือบทุกคน แต่มันไม่ได้ก่อให้เกิดอาการอะไร แต่ถ้าเป็นช่วงวัยรุ่นที่ต่อมไขมันขยายตัว ผู้สูงอายุที่ต่อมไขมันอุดตันทำให้น้ำมันคั่งค้าง หรือผู้ป่วยที่มีระดับภูมิต้านทานแย่ลง ไรขนตาก็จะเพิ่มปริมาณมากขึ้นจนสูญเสียสมดุล จึงเกิดอาการต่างๆได้
อาการที่เกิดจากไรขนตา
-
เปลือกตาอักเสบ บวม แดง มีขุยเหมือนมีรังแคที่โคนขนตา
-
ขนตาร่วง
-
เยื่อบุตาอักเสบ แสบเคืองตา ตาแห้ง
-
อาการของภาวะต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติ เช่น ตาแห้ง พร่ามัวจากการอักเสบของผิวกระจกตา
การรักษา
โดยทั่วไป จะรักษาเมื่อมีอาการเท่านั้น คือ ทำความสะอาดโคนขนตาด้วยแชมพูเด็กที่เจือจางหรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทำความสะอาดโคนขนตาโดยเฉพาะ ถูบริเวณโคนขนตา เพื่อขจัดตัวไรขนตาให้เหลือน้อยลง ร่วมกับการรักษาตามอาการต่างๆ โดยต้องใช้เวลารักษานานอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ เนื่องจากเป็นไปตามวงจรชีวิตของไรขนตา
วิธีการลดโอกาสที่จะเกิดอาการจากไรขนตา
-
ซักปลอกหมอนและผ้าปูที่นอนทุก 2 สัปดาห์
-
งดการใช้เครื่องสำอางค์ร่วมกับผู้อื่น เมื่อแต่งหน้าควรเช็ดออกให้สะอาด
-
ทำความสะอาดบริเวณโคนขนตาด้วยแชมพูเด็กอย่างสม่ำเสมอ
-
ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวควรใช้แบบปราศจากน้ำมัน