โดย แพทย์หญิง ณัฐธิดา นิ่มวรพันธุ์ ( จักษุแพทย์ที่ปรึกษาประจำศูนย์แว่นโปรเกรสซีฟเฉพาะบุคคล ไอซอพติก )
ภูมิแพ้ขึ้นตา คือ การที่เยื่อบุตามีปฏิกิริยาภูมิไวเกินต่อสารก่อภูมิแพ้ คนที่เป็นภูมิแพ้จะมีการอักเสบของเยื่อบุตามากกว่าปกติ โรคนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อยถึงร้อยละ 10-20 ของคนปกติ
สารก่อภูมิแพ้ที่พบได้บ่อย เช่น ไรฝุ่น เกษรดอกไม้ เชื้อรา ขนสัตว์ต่างๆ เป็นต้น
อาการของภูมิแพ้ขึ้นตา
อาการของภูมิแพ้ขึ้นตา ได้แก่ คันตา ตาแดง น้ำตาไหล อาจมีเปลือกตาบวมแดงร่วมด้วยได้ ในรายที่เป็นรุนแรงอาจมีการอักเสบหรือติดเชื้อที่กระจกตาจนสูญเสียการมองเห็นได้ ภูมิแพ้ขึ้นตาอาจพบร่วมกับภูมิแพ้ที่ บริเวณอื่น เช่น พบร่วมกับภูมิแพ้จมูก ภูมิแพ้ผิวหนัง เป็นต้น
ภูมิแพ้ขึ้นตา สามารถแบ่งตามอาการและอาการแสดงของโรคได้ 5 กลุ่ม ดังนี้
-
ภูมิแพ้ขึ้นตาตามฤดูกาล (Seasonal allergic conjunctivitis) อาการมักไม่รุนแรง จะมีอาการในฤดูกาลหรือช่วงเวลาที่มีสารก่อภูมิแพ้มาก โดยส่วนใหญ่มักพบในประเทศเมืองหนาว
-
ภูมิแพ้ขึ้นตาที่เป็นตลอดทั้งปี (Perennial allergic conjunctivitis) อาการภูมิแพ้ชนิดนี้มักเกิดขึ้นเรื้อรังตลอดทั้งปีแต่ไม่รุนแรง เนื่องจากสารก่อภูมิแพ้ส่วนใหญ่พบได้ในชีวิตประจำวัน เช่น ไรฝุ่น ขนสัตว์ เชื้อรา เป็นต้น
-
Vernal keratoconjunctivitis (VKC) เป็นการอักเสบของเยื่อบุตาเรื้อรังและอาการมักจะรุนแรงจนสามารถเกิดการอักเสบที่กระจกตาร่วมด้วยได้ มักพบในช่วงอายุ 5-20 ปี ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และมักพบในผู้ป่วยกลุ่มที่มีผื่นแพ้ผิวหนังหรือหอบร่วมด้วย
-
Atopic keratoconjunctivitis (AKC) อาการคล้ายกับ VKC แต่พบในผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 20 ปีขึ้นไป
-
Giant papillary conjunctivitis (GPC) เป็นการอักเสบของเยื่อบุตาเรื้อรังที่เกิดจากสัมผัสกับสิ่งแปลกปลอม เช่น คอนแทคเลนส์ ตาปลอม ไหมเย็บแผล เป็นต้น ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุตาด้านในเปลือกตาเป็นตุ่มขนาดใหญ่มากกว่า 1 มิลลิเมตร
วิธีการรักษาภูมิแพ้ขึ้นตา
รักษาโดยไม่ใช้ยา
-
หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดภูมิแพ้
-
ไม่ขยี้ตา เนื่องจากถ้ายิ่งขยี้ตาจะทำให้ยิ่งคันมากขึ้น
-
ประคบเย็น สามารถช่วยบรรเทาอาการคันได้ดี
-
หยอดน้ำตาเทียม จะช่วยล้างสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดภูมิแพ้ออกไปบางส่วน
รักษาด้วยยา
-
ใช้ยาแก้แพ้ สามารถใช้ได้ทั้งรูปแบบยาหยอดตาและยาชนิดรับประทาน จะช่วยบรรเทาอาการคันตาและตาแดงได้ดี
-
ในรายที่อาการรุนแรง ทางจักษุแพทย์อาจพิจารณาให้ยาเสตียรอยด์ชนิดหยอดร่วมด้วย แต่การใช้ยาเสตียรอยด์ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของจักษุแพทย์ เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากสเตียรอยด์ได้ เช่น ต้อหิน ต้อกระจก เป็นต้น