โดย O.D.ธงชัย อัสรางชัย
ภาวะความผิดปกติของการมองเห็น 2 อย่างนี้ คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดคิดว่าเหมือนกัน ทั้ง ๆ ที่สาเหตุของความผิดปกติ หรือกลไกการเกิดความผิดปกตินั้นไม่เหมือนกันเลย
สาเหตุ และกลไกการเกิดความผิดปกติ
เกิดจากสองสาเหตุหลัก คือ จากการขาดภาพที่ชัดเจนที่เป็นตัวกระตุ้นกลไกการเพ่งอย่างแม่นยำ และจากรูม่านตาที่ขยายตัวขึ้นทำให้เกิด Spherical aberration โดยการขาดภาพที่ชัดเจนจากการมองในสภาวะแสงน้อย ทำให้ระบบการเพ่ง ( Accommodation ) ไม่ถูกกระตุ้น ดวงตาจึงกลับไปสู่สภาวะ Night myopia คือ ที่ประมาณ + 0.50 Diopoter อนึ่งกระบวนการเกิด Night myopia เป็นสิ่งที่มีเหตุผล เนื่องจากเมื่ออยู่ในห้องมืด เราจะไม่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจน และจากการที่เห็นได้ไม่ชัด ทำให้เราไม่เคลื่อนที่อย่างรวดเร็วหรือวิ่งในที่มืด จึงไม่มีความจำเป็นที่จะเห็นสิ่งที่อยู่ไกลตัวออกไปมาก ๆ ดวงตาของเราจึงปรับตัวโดยทำการเพ่งเพื่อปรับการมองให้เห็นสิ่งใกล้ตัวมากขึ้น ไม่ใช่ที่ระยะไกล ทำให้เกิด Night myopia จะเห็นว่า ในอดีตกาล Night myopia ไม่ใช่ปัญหาแต่กลับเป็นปัญหาในปัจจุบัน เนื่องจากเรามีกิจกรรมที่ต้องใช้ความเร็วในที่มืด เช่น การขับรถในเวลากลางคืน เป็นต้น
การที่รูม่านตาขยายใหญ่ขึ้นเพื่อรับแสงในที่มืด ส่งผลให้ความคมชัดของการเห็นลดลง เนื่องจากเกิด Spherical aberration โดยแสงที่จุดกึ่งกลางของตาดำจะหักเหไปโฟกัสพอดีบนจอตา แต่แสงที่บริเวณริม ๆ ขอบ ๆ ของรูม่านตาจะหักเหไปโฟกัสก่อนถึงจอตา ( การที่แสงโฟกัสก่อนถึงจอตา คือ ภาวะสายตาสั้น ) การที่แสงที่ผ่านขอบรูม่านตา และกลางรูม่านตาโฟกัสคนละจุด ไม่ได้ไปโฟกัสที่จุดเดียวกัน ทำให้ภาพที่ได้ไม่คมชัด คือ การเกิด Spherical aberration นั่นเอง
เมื่อสาเหตุของการเกิด Night myopia เป็นอย่างนี้ ผู้อ่านจะสงสัยว่า อย่างนี้ Night myopia น่าจะเกิดกับมนุษย์ทุกคน ใช่ครับมันเกิดกับดวงตาของมนุษย์ทุกคู่บนโลกใบนี้ แต่ธรรมชาติได้แก้ไขปัญหานี้ให้กับมนุษย์โดยการออกแบบให้ความโค้งของกระจกตามนุษย์มีความโค้งที่ไม่เท่ากันในแต่ละบริเวณเพื่อชดเชยการหักเหของแสง กล่าว คือ กระจกตามีความโค้งมากที่สุดบริเวณจุดศูนย์กลาง และโค้งน้อยลงบริเวณที่ห่างจากจุดศูนย์กลางออกไปจนถึงขอบกระจกตา
ผู้อ่านอาจมีคำถามในอีกว่าในเมื่อธรรมชาติชดเชยให้แล้วทำไมยังมีปัญหาเกิดขึ้นอีก ใช่ครับชดเชยให้แล้ว แต่มนุษย์แต่ละคนก็มีสรีระที่ไม่เหมือนกัน คนที่ประสบปัญหานี้เกิดจากการชดเชยดังกล่าวไม่สมบูรณ์ แก้ไขได้ไม่หมด จึงทำให้มีปัญหา แต่สภาวะ Night myopia เกิดขึ้นเฉพาะตอนที่แสงน้อยถึงระดับหนึ่ง หรือในตอนมืดเท่านั้นครับ โดยตอนกลางวัน หรือในขณะที่มีแสงเพียงพอจะไม่เกิดครับ อนึ่งยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการขับรถในเวลากลางคืน เช่น ต้อกระจก การมี Contrast Sensitivity ลดลงในผู้สูงอายุ ฯลฯ
อาการ
จะมองเห็นไม่ชัดเจนในขณะที่แสงน้อยถึงระดับหนึ่งหรือในตอนกลางคืนเท่านั้น เช่น จะไม่กล้าขับรถในตอนกลางคืน รู้สึกไม่มั่นใจ อันเนื่องมาจากการมองเห็นไม่ชัด
การแก้ไข
แวะไปปรึกษาทัศนมาตรใกล้บ้านเพื่อรับการตรวจอย่างละเอียด และใส่แว่นเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะเวลากลางคืน หรือในที่ที่มีแสงไม่เพียงพอ
ตาบอด ตาฟางตอนกลางคืน ( Night Blindness ) หรือ ( Nyctalopia )
สาเหตุ และกลไกการเกิดความผิดปกติ
สาเหตุหลักเกิดจาการขาดวิตามินเอ ทำให้เกิดความผิดปกติของเซลล์รับภาพที่ทำหน้าที่เมื่อมีแสงน้อยบนจอตา ส่วนสาเหตุอื่น เช่น ต้อกระจก และการเสื่อมของจอตาชนิดหนึ่ง ( Retinitis pigmentosa ) อีกทั้งโรคทางกายที่เกี่ยวกับตับก็จะทำให้การดูดซึมวิตามินเอไม่ดี ทำให้ร่างกายขาดวิตามินเอได้ ทั้ง ๆ ที่บริโภคอาหารที่มีวิตามินเอเพียงพอ วิตามินเอเป็นสิ่งจำเป็นในการผลิต Rhodopsin โดย Rhodopsin เป็นสารสำคัญในจอตา ซึ่งทำหน้าที่เปลี่ยนแสงเป็นสัญญาณไฟฟ้า หากขาดวิตามินเอ ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิต Rhodopsin จะทำให้จอตาผลิต Rhodopsin ได้ไม่เพียงพอ ส่งผลให้จอตามีความไวต่อแสงลดลง และเกิดตาบอดกลางคืนในที่สุด
จากรูป บริเวณส่วนกลางของรูป คือ ภาพที่คนที่มีปัญหา Night Blindness เห็นส่วนด้านซ้าย และขวาของรูปคือภาพที่คนตาปกติเห็น
อาการ
ไม่สามารถเห็น หรือเห็นฝ้าฟางในที่แสงน้อย เช่น ขณะขับรถตอนกลางคืนมีอาการเห็นไม่ค่อยชัดอยู่แล้ว เมื่อแสงไฟหน้าของรถที่วิ่งสวนทางมาเข้าตา ทำให้มองไม่เห็นอะไรเลยหลายวินาที
ข้อแนะนำ
ควรไปปรึกษาจักษุแพทย์ใกล้บ้านเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยครับ