โดย แพทย์หญิง ณัฐธิดา นิ่มวรพันธุ์ ( จักษุแพทย์ที่ปรึกษาประจำศูนย์แว่นโปรเกรสซีฟเฉพาะบุคคล ไอซอพติก )
อาการทางตาจากโรคไทรอยด์ หรือ Thyroid eye disease (TED) เป็นความผิดปกตินอกต่อมไทรอยด์ที่พบบ่อยที่สุด เป็นโรคของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีความผิดปกติต่ออวัยวะตัวเอง ภาวะนี้มักสัมพันธ์กับความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ ทั้งภาวะทำงานมากกว่าปกติ คือไทรอยด์เป็นพิษจาก Graves disease และภาวะทำงานน้อยกว่าปกติจาก Hashimotos thyroiditis อย่างไรก็ตามความรุนแรงของอาการทางตาอาจไม่สัมพันธ์กับภาวะการทำงานของต่อมไทรอยด์ โดยอาจจะพบความรุนแรงของอาการทางตาจากไทรอยด์มาก โดยที่การทำงานของต่อมไทรอยด์ยังปกติก็เป็นได้
ภาพแสดงอาการแสดงของผู้ป่วยที่มีอาการทางตาจากโรคไทรอยด์
(จาก Wikipedia)
เมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ จะเกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลอกตา จะมีขนาดใหญ่ขึ้นและดันลูกตาไปทางด้านหน้าจึงเกิดภาวะตาโปน (Proptosis) และกล้ามเนื้อตายังเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นพังผืด ส่งผลให้กลอกตาได้ไม่สุด จึงเห็นภาพซ้อนหรือตาเหล่ ส่วนกล้ามเนื้อตาที่ช่วยในการลืมตา เมื่อกลายเป็นพังผืดจะดึงรั้งหนังตาบนให้เลิกสูงขึ้น (Lid retraction) คล้ายกับตาเหลือก และอาจมีภาวะหลับตาไม่สนิท ส่งผลทำให้ เกิดภาวะตาแห้งหรือมีแผลติดเชื้อที่กระจกตาในภายหลังได้ ในบางรายมีเยื่อบุตาบวม (Chemosis) ผิวหนังรอบตาบวม (Periorbital edema) หากกล้ามเนื้อตาขยายขนาดขึ้นจนเบียดต่อเส้นประสาทตาส่งผลให้การมองเห็นลดลงได้ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายที่สุด
ภาวะไทรอยด์ทำงานมากกว่าปกติ ยังมีอาการอื่น ได้แก่ มือสั่น ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว น้ำหนักลด ขี้ร้อน ท้องเสีย ส่วนภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำกว่าปกติ อาการที่พบ ได้แก่ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ท้องผูก น้ำหนักขึ้น เป็นต้น
ภาพแสดงกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลอกตาที่มีขนาดใหญ่ขึ้นจากโรคไทรอยด์
(จาก https://doctorsaustralia.com.au)
อาการทางตาจากโรคไทรอยด์นั้นจะมีช่วงที่การอักเสบรุนแรงสลับกับช่วงที่การอักเสบลดลงเอง ในผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการอักเสบรุนแรงเพียงครั้งเดียวแล้วสงบลง แต่ถึงแม้การอักเสบจะลดลงแต่มักมีอาการบางอย่างที่ไม่หายไป เช่น หนังตาเลิกขึ้น กลอกตาไม่สุด หลับตาไม่สนิทหรือตาโปนเหลืออยู่ได้
การรักษา
-
งดสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่ทำให้อาการทางตาจากโรคไทรอยด์แย่ลงอย่างชัดเจน
-
ควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์ให้อยู่ในระดับปกติ สามารถป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อที่ช่วยในการกลอกตาผิดปกติมากขึ้น แต่ไม่สามารถทำให้กล้ามเนื้อตากลับสู่ปกติได้
-
การหลับตาไม่สนิท หากมีความผิดปกติเล็กน้อย การใช้น้ำตาเทียมหยอดและใช้ขี้ผึ้งป้ายตอนก่อนนอน ช่วยลดอาการระคายเคืองได้ดี และสามารถใช้เทป ช่วยปิดเปลือกตาเพื่อให้หลับตาได้สนิทตอนนอน หากหลับตาไม่สนิทจนมีปัญหาที่กระจกตาอาจต้องได้รับการผ่าตัดเปลือกตาร่วมด้วย
-
ในผู้ป่วยที่มองเห็นภาพซ้อน ใช้การปิดตาหนึ่งข้างเพื่อลดอาการได้ชั่วคราว แต่เมื่อการอักเสบสงบลงแล้วแต่ยังมีภาพซ้อนหรือตาเหล่เหลืออยู่ หากภาพซ้อนน้อย สามารถใช้แว่นปริซึมช่วยหักเหแสง เพื่อลดการมองเห็นภาพซ้อนได้ แต่ไม่ช่วยเรื่องตาเหล่ แต่หากภาพซ้อนหรือตาเหล่มาก ต้องใช้การผ่าตัดกล้ามเนื้อตาในการรักษา
-
เส้นประสาทตาถูกกดเบียดจากกล้ามเนื้อตาที่ใหญ่ขึ้น การรักษาจะใช้สเตียรอยด์ปริมาณสูงหรือฉายแสงไปยังบริเวณเบ้าตาและกล้ามเนื้อตา เพื่อลดขนาดกล้ามเนื้อตาที่ไปกดทับเส้นประสาทตา หากไม่ได้ผล ลำดับถัดไป คือ การผ่าตัดกระดูกเบ้าตาออกบางส่วนเพื่อขยายขนาดเบ้าตาจะได้ลดการกดทับลง