โดย แพทย์หญิง อรทัย สุวรรณพิมลกุล จักษุแพทย์
บทความตอนนี้จะกล่าวต่อถึงภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดต้อกระจก
เลือดออก
ปัญหาเลือดออกสามารถเกิดได้ทั้งด้านหน้า และด้านหลังลูกตา
- เลือดออกในช่องหน้าลูกตา ( hyphema ) ส่วนใหญ่มักเกิดจากบริเวณแผลผ่าตัด เวลาที่ลงแผลอาจถูกเส้นเลือดเล็ก ๆ บริเวณนั้น หรือเลือดออกจากม่านตาจากการถูกดึงรั้งระหว่างผ่าตัด ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นโรคที่มีเส้นเลือดผิดปรกติที่ม่านตาอยู่เดิมหรือทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดจะมีความเสี่ยงต่อการเลือดออกจากม่านตาเวลาถูกดึงรั้งเพียงเล็กน้อย โดยทั่วไปภาวะเลือดออกในช่องหน้าลูกตามักจะไม่รุนแรง และหายไปเองได้ อย่างไรก็ตามระหว่างที่ยังมีเลือดในช่องหน้าลูกตาจะต้องระวังโอกาสที่จะเกิดความดันตาสูงได้ ซึ่งแพทย์ก็จะคอยติดตามเรื่องความดันตาเป็นระยะ ๆ อยู่แล้ว
- เลือดออกชั้นเหนือ choroid
ภาพแสดงกายวิภาคของลูกตา : ซึ่ง choroid จะเป็นชั้นของเครือข่ายเส้นเลือดที่อยู่ใต้จอประสาทตา ( retina ) ระหว่างชั้น choroid และ sclera ( ผนังลูกตา ) จะมีช่องเล็ก ๆ เรียกว่า suprachoroidal space ซึ่งเลือดที่ออกมีโอกาสขังอยู่ในบริเวณนี้
ภาวะเลือดออกชั้นเหนือ choroid ( suprachoroidal hemorrhage ) พบได้ไม่บ่อย มักเกิดจากมีการเปลี่ยนแปลงของความดันในลูกตาอย่างมากระหว่างการผ่าตัด ภาวะนี้จะทำให้มีอาการปวดตา ตามัว พบช่องหน้าลูกตาแบน และความดันตาสูงได้หลังผ่าตัด โดยทั่วไปแพทย์มักจะให้ยาควบคุมความดันตา และเลือดที่ออกมักจะค่อย ๆ ดูดซึมหายไปเอง กรณีที่เลือดออกเป็นบริเวณกว้าง หรือความดันตาสูงมาก แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดเพื่อนำเลือดที่ขังอยู่ชั้น suprachoroid ออก
ภาพแสดงเลือดออกที่ขังอยู่ชั้นเหนือ choroid ตรวจพบชั้นจอประสาทตา และ choroid นูนเป็นโดมเข้ามาในลูกตา ภาพขวาเป็นตัวอย่างของการทำอัลตราซาวน์ บริเวณสีขาว ๆ กลม ๆ แสดงถึงเลือดที่ออกในชั้นเหนือ choroid
ความดันตาสูง
การเกิดความดันตาสูงหลังการผ่าตัดต้อกระจก เป็นภาวะที่พบได้บ่อย ส่วนใหญ่มักจะเป็นชั่วคราว และหายไปได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาลดความดันตาในระยะยาว อย่างไรก็ตามช่วงที่มีความดันตาสูงแพทย์ยังคงต้องให้ยาเพื่อควบคุม เนื่องจากความดันตาที่สูงมากมีโอกาสทำลายเซลล์ประสาทตา ซึ่งจะมีผลอย่างมากในผู้ที่เป็นโรคต้อหินอยู่แต่เดิม
สาเหตุที่มักทำให้ความดันตาสูง ได้แก่ การเหลือค้างของสารที่ใช้ในการผ่าตัด ( ซึ่งมักจะหายไปเองประมาณ 1 - 2 วันหลังผ่าตัด) การมีเลือดออกในช่องหน้าลูกตา การอักเสบหรือติดเชื้อ ผู้ป่วยต้อหินเดิม การใช้ยาจำพวกสเตียรอยด์ เป็นต้น ( ต้องขอกล่าวไว้ก่อนว่าผู้ที่ใช้ยาจำพวกสเตียรอยด์ไม่ใช่ทุกรายที่จะมีความดันตาขึ้นนะคะ หากใช้อยู่ในความดูแลของแพทย์ก็ไม่ต้องกังวลจนเกินไปค่ะ )
บางครั้งผู้ป่วยอาจไม่มีอาการใด ๆ หากความดันตาสูงขึ้นไม่มากนัก ฉะนั้นผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดต้อกระจก ควรมาติดตามอาการหลังผ่าตัดกับแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
จุดรับภาพตรงกลางบวม ( cystoid macular edema : CME )
เป็นภาวะที่พบได้บ่อย และเป็นสาเหตุให้เกิดอาการตามัวหลังผ่าตัดต้อกระจกได้ ส่วนใหญ่มักสัมพันธ์กับการที่มีการอักเสบค่อนข้างมากหลังการผ่าตัด มักเกิดในช่วง 6 - 10 สัปดาห์หลังผ่าตัด และพบว่ามากกว่า 95 % ของภาวะนี้จะหายเองภายใน 6 เดือน
ผู้ที่เป็นเบาหวานหรือมีพังผืดที่จอประสาทตา ถือว่าเสี่ยงต่อการเกิด CME
สังเกตว่าบริเวณจุดรับภาพตรงกลางมีการบวมเห็นเป็นแฉกคล้ายกลีบดอกไม้
ภาพแสดงการถ่ายภาพจอประสาทตาด้วยการฉีดสีพิเศษ มองเห็นบริเวณที่จุดรับภาพบวมชัดขึ้น
อย่างไรก็ตามเนื่องจากภาวะนี้โดยทั่วไปไม่รุนแรง แพทย์มักจะเริ่มด้วยการให้ยาเพื่อลดการอักเสบ ซึ่งหากการบวมของจุดรับภาพหายไป การมองเห็นก็จะกลับมาดีได้ กรณีที่จุดรับภาพบวมเป็นระยะเวลานาน การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าในลูกตาอาจช่วยในการรักษาภาวะนี้ได้ค่อนข้างดี