โดย แพทย์หญิง อรทัย สุวรรณพิมลกุล จักษุแพทย์
ก่อนที่กล่าวถึงโรคต้อหิน อยากจะให้ผู้อ่านได้เข้าใจถึงภาวะความดันตาสูงก่อน ซึ่งมีความเกี่ยวพันอย่างยิ่งกับความเข้าใจโรคต้อหิน และการรักษา
ความดันตาสูง ( ocular hypertension ) หมายถึง ภาวะที่วัดความดันลูกตาพบว่าค่าที่ได้มากกว่า 21 มม.ปรอท ซึ่งการที่ความดันตาสูงไม่ได้หมายความว่าจะเป็นโรคต้อหินเสมอไป และไม่ได้จำเป็นต้องได้ยาลดความดันตาทุกคน
ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นภาวะความดันตาสูง ตามนิยามทางวิชาการแพทย์มีลักษณะดังนี้
- ความดันตาสูงมากกว่า 21 มม.ปรอท ซึ่งวัดด้วยวิธี applanation tonometry 2 ครั้งขึ้นไป
- ตรวจลานสายตาไม่พบลักษณะของต้อหิน
- ตรวจขั้วประสาทตา และจอประสาทตาไม่พบลักษณะของต้อหิน
- มุมตาเปิด
ภาพแสดงการวัดความดันตาด้วยวิธี applanation tonometry
อย่างไรก็ตามผู้ที่มีความดันตาสูงถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงข้อหนึ่งที่อาจเกิดต้อหินตามมาได้
การศึกษาที่ผ่านมาพบว่า เมื่อเวลาผ่านไป 5 ปี โอกาสการเกิดต้อหินในผู้ที่ความดันตาสูงระหว่าง 21 - 25 มม.ปรอท อยู่ที่ 2.6 - 3 % , ถ้าความดันตา 26 - 30 มม.ปรอท ความเสี่ยงต่อการเกิดต้อหินเท่ากับ 12 - 26 % และความเสี่ยงจะสูงถึง 42 % หากความดันตามากกว่า 30 มม.ปรอท ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วผู้ที่มีภาวะความดันตาสูงมีความเสี่ยงต่อการเกิดต้อหินประมาณ 10 % นอกจากตัวเลขความดันตาแล้วการวัดความหนากระจกตาก็มีผลต่อการประเมินความเสี่ยงในการเกิดต้อหินในอนาคตด้วย
ภาพแสดงการวัดความหนาของกระจกตา
จะขออธิบายเพิ่มเติม : โดยธรรมชาติผู้ที่กระจกตาหนามักจะวัดความดันตาได้สูงกว่าผู้ที่กระจกตาบาง ดังนั้นสมมติว่าวัดความดันตาได้ 23 มม.ปรอท ในคน 2 คน ซึ่งมีความหนากระจกตาต่างกัน ผู้ที่มีความดันตาสูงร่วมกับกระจกตาที่บางจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดต้อหินมากกว่าผู้ที่กระจกตาหนาในระดับความดันตาที่เท่ากัน
นอกจากปัจจัยของความหนากระจกตาที่มีผลต่อการประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดต้อหินในผู้ที่ความดันตาสูง ปัจจัยอื่น ๆ ที่ต้องคำนึงถึงด้วย คือ
- เชื้อชาติ โดยคนผิวดำมีโอกาสเกิดต้อหินมุมเปิดมากกว่าคนผิวขาวประมาณ 3 - 4 เท่า
- อายุ อายุมากกว่า 40 ปีมีความเสี่ยงต่อการเกิดต้อหินมากกว่าคนอายุน้อย
- ประวัติครอบครัว ถ้ามีก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดต้อหิน
เนื่องจากผู้ที่มีความดันตาสูงจะมีโอกาสในการเกิดต้อหิน ฉะนั้นควรได้รับการตรวจตาอย่างละเอียดรวมถึงการบันทึกภาพถ่ายขั้วประสาทตา และตรวจลานสายตาเป็นข้อมูลพื้นฐานไว้สำหรับเปรียบเทียบดูการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
ภาพแสดงกล้องสำหรับบันทึกขั้วประสาทตา ( ซ้าย ) และเครื่องตรวจลานสายตา ( ขวา )
การรักษา
เนื่องจากผู้ที่มีความดันตาสูง ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นต้อหินทุกราย ฉะนั้นการพิจารณารักษาภาวะนี้จึงขึ้นกับว่าผู้นั้นมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดต้อหินในอนาคตมากน้อยแค่ไหน ร่วมกับการติดตามการเปลี่ยนแปลงของขั้วประสาทตา และลานสายตา
โดยทั่วไปแนวทางการรักษามักจะเป็นดังนี้
- ความดันตาถ้ามากกว่า 28 มม.ปรอท ควรจะได้รับยาลดความดันตา ซึ่งยาที่จะได้ผลควรลดความดันตาได้อย่างน้อย 20 % ของความดันตาเริ่มต้น ซึ่งแพทย์จะนัดมาประเมินหลังจากให้ยาแก่ผู้ป่วยแล้ว และเพื่อให้ได้ผลการป้องกันการเกิดต้อหินที่ดี ผู้ป่วยต้องหยอดยาอย่างสม่ำเสมอ
- ถ้าความดันตาประมาณ 26 - 27 มม.ปรอท อาจตรวจซ้ำใน 2 - 3 สัปดาห์ หากความดันตายังคงระดับนี้ควรติดตามความดันตาทุก 3 - 4 เดือน และตรวจความดันตาในช่วงเวลาที่แตกต่างกันเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของความดันตาตลอดวัน ร่วมกับตรวจขั้วประสาทตา และลานสายตา โดยยังไม่จำเป็นต้องได้รับยาลดความดันตา
- สำหรับความดันตา 22 - 25 มม.ปรอท ตรวจซ้ำใน 2 - 3 เดือน ควรตรวจในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของความดันตาตลอดวัน ร่วมกับตรวจขั้วประสาทตาและลานสายตา หากความดันตายังคงอยู่ระดับนี้ ไม่จำเป็นต้องได้รับยาลดความดันตา ให้ติดตามดูทุก 6 เดือน
โดยสรุปแล้วผู้ที่มีความดันตาสูงควรได้รับการติดตามกับจักษุแพทย์อย่างสม่ำเสมอ แม้จะไม่ได้รับยาลดความดันตาในตอนแรก แต่หากพบการเปลี่ยนแปลงของขั้วประสาทตาหรือลานสายตาแย่ลง จะได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ