ขั้วประสาทตาขาดเลือด

โดย แพทย์หญิง อรทัย สุวรรณพิมลกุล จักษุแพทย์

โรคขั้วประสาทตาขาดเลือดหรือ anterior ischemic optic neuropathy ( AION ) เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของโรคขั้วประสาทตาในผู้สูงอายุ แบ่งเป็น 2 ประเภท

  1. nonarteritic anterior ischemic optic neuropathy ; NAION
  2. arteritic anterior ischemic optic neuropathy ; AAION

สาเหตุที่ต้องแบ่งเนื่องจากประเภทที่สอง คือ AAION มีความสัมพันธ์กับโรคทางกายที่เรียกว่า giant cell arteritis ซึ่งเป็นโรคที่มีการอักเสบของเส้นเลือดที่อวัยวะอื่น ๆ ร่วมด้วยไม่เฉพาะที่ตาเท่านั้น และเป็นโรคที่ค่อนข้างอันตราย หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีอาจทำให้เกิดความพิการหรือเสียชีวิตได้

โรคขั้วประสาทตาขาดเลือดหรือในบทความนี้จะใช้คำว่า AION เป็นโรคที่ทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นอย่างเฉียบพลัน ร่วมกับมีการบวม และซีดของขั้วประสาทตา ในระยะยาวขั้วประสาทตาจะมีการฝ่อลงได้

พยาธิสภาพ

ภาวะ AION เป็นผลของการขาดเลือดที่มาหล่อเลี้ยงขั้วประสาทตาด้านหน้า ทำให้เซลล์ประสาทตาถูกทำลาย และตายลงในที่สุด

  1. ในกลุ่ม NAION พบได้บ่อยในคนขาวเมื่อเปรียบเทียบกับเชื้อชาติอื่น ในสหรัฐความชุกอยู่ที่ 2.3 - 10.3 ต่อประชากร 100,000 คน สำหรับคนเอเชียพบได้ประมาณ 3 % ของประชากร
  2. ส่วน AAION พบบ่อยในประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวีย ในคนเอเชียพบค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าพบได้อยู่เรื่อยเช่นกัน
  3. พบโรค AION ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยใน NAION อัตราส่วนอยู่ที่ 1.2 : 1 สำหรับ AAION หญิงต่อชายอยู่ที่ 2 : 1
  4. โรคนี้มักพบในผู้สูงอายุ โดย NAION มักพบในผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปี ส่วน AAION มักมีอายุมากกว่า 50 ปี

ความสำคัญของโรค AION

  1. ในกลุ่มที่เป็น NAION มักจะไม่ค่อยสัมพันธ์กับโรคทางกายที่ร้ายแรงถึงชีวิต อย่างไรก็ตามพบว่ามีความสัมพันธ์กับโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคเส้นเลือดหัวใจขาดเลือด
  2. สำหรับกลุ่มที่เป็น AAION สัมพันธ์กับโรค giant cell arteritis ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งโรคนี้มีผลต่ออวัยวะส่วนอื่น ๆ ได้ทั่วร่างกายไม่เฉพาะที่ตาเท่านั้น และอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างสองกลุ่ม พบว่ากลุ่มที่เป็น AAION ทำให้เกิดตาบอดสองข้างได้บ่อยกว่า NAION และภาวะตาบอดที่เกิดขึ้นมักจะเกิดได้พร้อมกันในตาทั้งสองข้างหากเป็นชนิด AAION

อาการ และอาการแสดง

  1. ผู้ป่วยมักมีอาการตามัวอย่างเฉียบพลัน แต่มักไม่มีอาการปวด ส่วนใหญ่มักจะตามัวหลังจากตื่นนอน ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากความดันโลหิตที่ต่ำขณะนอนหลับ
  2. ในกลุ่มที่เป็น AAION มักมีอาการปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ ปวดขมับ และเจ็บบริเวณเส้นเลือดที่ขมับ ( temporal arteries ) ปวดเมื่อยกรามเวลาเคี้ยวอาหารไปสักพัก อาจมีไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ร่วมด้วย
  3. ตรวจพบขั้วประสาทตาบวม ซีด ลานสายตาผิดปรกติ
  4. ในกลุ่มที่เป็น AAION เส้นเลือดที่ขมับ ( temporal arteries ) อาจจะนูนขึ้นและกดเจ็บ

ขั้วประสาทตาขาดเลือด

แสดงภาพขั้วประสาทตาปรกติ

ขั้วประสาทตาขาดเลือด ขั้วประสาทตาขาดเลือด

ขั้วประสาทตาขาดเลือด AION พบลักษณะขั้วประสาทตาบวม ซีด

ขั้วประสาทตาขาดเลือด ขั้วประสาทตาขาดเลือด

ภาพ A เป็นขั้วประสาทตาที่ยังไม่เป็น AAION ; B ระยะเวลา 1 สัปดาห์หลังเกิด AAION ; C ที่เวลา 4 เดือน หลังจากเกิด AAION พบว่าขั้วประสาทตาไม่บวมแล้วแต่มีสีซีดลงเมื่อเทียบกับภาวะก่อนเกิดโรคในภาพ A การที่ขั้วประสาทตาสีซีดลงแสดงว่ามีการฝ่อของเซลล์ประสาทตาค่อนข้างมาก

ขั้วประสาทตาขาดเลือด

ภาพแสดงเส้นเลือดขมับที่มีการนูน และกดเจ็บ พบได้ในผู้ที่เป็น Giant cell arteritis

สาเหตุ

  1. กลุ่ม NAION การขาดเลือดของขั้วประสาทตาเป็นผลจากการมีไขมันสะสมที่เส้นเลือด ( atherosclerosis ) เช่นเดียวกับโรคความดันโลหิตสูง
  2. AAION การขาดเลือดเกิดจากเส้นเลือดมีการอักเสบ ซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่เส้นเลือดเกิดการอักเสบขึ้นมา เชื่อว่าอาจเกิดจากภาวะพันธุกรรมบางอย่าง

การรักษา

การรักษาของผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องทำร่วมกับแพทย์อายุรกรรม เนื่องจากภาวะ AION มักสัมพันธ์กับโรคทางกายดังกล่าวข้างต้น โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็น giant cell arteritis ต้องได้รับการรักษาอย่างเร็วที่สุดเพื่อลดโอกาสการเกิดตามัวในตาอีกข้าง และลดอัตราความพิการหรือตายจะเส้นเลือดที่มีการอักเสบที่อวัยวะส่วนอื่น

  1. ใน NAION ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจหาโรคความดันโลหิตสูงหรือเบาหวาน และควบคุมภาวะดังกล่าว
  2. AAION ซึ่งสัมพันธ์กับ giant cell arteritis การรักษาเป็นการให้ยาเพื่อลดการอักเสบของเส้นเลือด ซึ่งมักเป็นยากลุ่มสเตียรอยด์ ต้องให้เป็นระยะเวลานานเป็นปี และต้องมีการติดตามอาการเป็นระยะ ๆ ไม่เฉพาะอาการทางตา แต่รวมถึงอาการโรคในอวัยวะส่วนอื่น ๆ ด้วย

สิ่งที่ผู้ป่วยควรเข้าใจ คือ การรักษาภาวะ AION มิใช่รักษาเพื่อให้ตาข้างที่เป็นกลับมามองเห็น แต่ให้การรักษาเพื่อป้องกันหรือลดอัตราเสี่ยงของภาวะนี้ที่จะเกิดได้ในตาอีกข้างหนึ่ง และลดอัตราการตายจากโรค giant cell arteritis

ฉะนั้นผู้สูงอายุที่มีปัญหาตามัวเฉียบพลันควรได้รับการพบแพทย์โดยเร็วที่สุด และหากเกิดภาวะดังกล่าวการมาติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย

คำยืนยันจากผู้ใช้

คุณหน่อง อรุโณชา ภาณุพันธุ์

คุณหน่อง อรุโณชา ภาณุพันธุ์

ผู้สร้างภาพยนตร์ บุพเพสันนิวาส ๒ และ ละครพรหมลิขิต ★ ★ ★ ★ ★

แว่นที่ดี สำคัญมากกับการดำเนินชีวิต ดีใจที่เจอแว่นที่ถูกใจ ก็เหมือนกับบุพเพสันนิวาส ทำให้เราทำงานได้อย่างมีความสุขค่ะ

อ่านต่อ
นายแพทย์ วิชิต ศิริทัตธำรง

นายแพทย์ วิชิต ศิริทัตธำรง

หัวหน้าหน่วยจุลศัลยกรรมโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ ★ ★ ★ ★ ★

ใช้แว่นตาโปรเกรสซีฟอัจฉริยะไอซอพติกแล้ว ทำให้เหนื่อยน้อยลง มีพลังในการทำงานมากขึ้น และมีความสุขเพิ่มขึ้นในการใช้ชีวิต ครับ

อ่านต่อ

รวมคำยืนยันจากผู้ใช้แว่นตาโปรเกรสซีฟอัจฉริยะ 3 มิติ เฉพาะบุคคล อย่างยิ่งยวด สะท้านโลกา

อ่านต่อ

เลนส์แว่นตาไอซอพติก มีจำหน่ายที่
ศูนย์แว่นโปรเกรสซีฟเฉพาะบุคคล ไอซอพติก เท่านั้น
โปรดระวังการแอบอ้าง

go to top
คุณภาพการมองเห็นมีผลกับ คุณภาพชีวิตอย่างไร ?