โดย แพทย์หญิง อรทัย สุวรรณพิมลกุล จักษุแพทย์
เชื้อไวรัสเริมนอกจากทำให้เกิดอาการที่ผิวหนังตามร่างกาย ยังเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับกระจกตาได้ บางกรณีก็อาจทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นได้อย่างมาก ความผิดปรกติที่ตรวจพบอาจเป็นจากการติดเชื้อโดยตรงหรือเกิดจากภาวะภูมิคุ้มกันในร่างกายเรามีการตอบสนองต่อตัวเชื้อที่ซ่อนอยู่ โรคเริมในกระจกตาทำให้เกิดความผิดปรกติได้ในทุกชั้นของกระจกตา ซึ่งจะกล่าวต่อไป
สาเหตุ
เชื้อไวรัสเริม ( herpes simplex virus ; HSV ) เป็นเชื้อที่พบว่าติดเชื้อได้ทั่วไปในคน ซึ่งอาจแสดงอาการหรือไม่ก็ได้ การติดเชื้อมักเกิดจากการสัมผัสต่อตัวเชื้อทางผิวหนังหรือเยื่อบุอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ตัวเชื้อสามารถแบ่งได้ 2 ชนิด คือ HSV - 1 มักทำให้เกิดการติดเชื้อที่บริเวณใบหน้า และดวงตา สำหรับ HSV - 2 ทำให้เกิดการติดเชื้อที่บริเวณอวัยวะเพศ รวมถึงเป็นเหตุให้เกิดการติดเชื้อในเด็กแรกคลอดซึ่งคลอดจากช่องคลอดของมารดาที่ติดเชื้ออยู่
ภาวะทั่วไปการติดเชื้อ HSV - 1 ในครั้งแรก อาจไม่มีอาการใด ๆ เลย หรือมีตุ่มน้ำที่เปลือกตาหรืออาจมีอาการที่ทางเดินหายใจคล้ายหวัด ซึ่งมักจะไม่รุนแรง หลังการติดเชื้อครั้งแรกตัวไวรัสมักจะไปซ่อนอยู่ตามปมประสาท ที่พบบ่อย คือ ปมประสาทคู่ที่ 5 ของเส้นประสาทสมอง เมื่อมีภาวะใดก็ตามที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอ ตัวเชื้อที่ซ่อนอยู่ในปมประสาทก็จะมีการกระจายออกมาตามเส้นประสาท และก่อให้เกิดอาการโรคเริมที่ต่าง ๆ ซึ่งเรียกว่าการติดเชื้อซ้ำ อาการที่เกิดขึ้นรวมถึงความผิดปรกติที่ดวงตาด้วยเช่นกัน
ในสหรัฐพบว่าโรคเริมในดวงตาเกิดขึ้นโดยประมาณ 20,000 รายต่อปี และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สูญเสียการมองเห็น รวมถึงเป็นสาเหตุหลักของการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาเนื่องจากภาวะกระจกตาขุ่น
อาการ และอาการแสดง
ผู้ป่วยมักมีอาการ ได้แก่ ปวดตา สู้แสงไม่ได้ ตามัว น้ำตาไหล ตาแดง เป็นต้น บางคนอาจเคยมีประวัติว่าเป็นโรคเริมที่ดวงตามาก่อน
อาการแสดง
การติดเชื้อครั้งแรกดังกล่าวข้างต้นว่าอาจไม่มีอาการใด บางรายหากมีอาการมักพบเป็นตุ่มน้ำที่บริเวณเปลือกตา
สำหรับอาการแสดงที่พบบ่อยมักเกิดจากการติดเชื้อซ้ำ รวมถึงการอักเสบที่เกิดจากการตอบสนองของภาวะภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อตัวเชื้อที่ซ่อนอยู่ ได้แก่
- ติดเชื้อที่ชั้นผิวนอกของกระจกตา
ภาพแสดงการติดเชื้อที่ผิวนอกของกระจกตา ย้อมด้วยสีพิเศษ ( แผลย้อมติดสีเขียว )
- ติดเชื้อหรือการอักเสบที่ชั้นเนื้อของกระจกตา การอักเสบรวมถึงการอักเสบที่เกิดจากการตอบสนองของภาวะภูมิคุ้มกันในร่างกาย มักพบว่ากระจกตาขุ่นหรือบางครั้งมีเส้นเลือดงอกเข้ามาที่กระจกตา บางรายเห็นเป็นรอยแผลเป็นขุ่นขาวจากการอักเสบเป็น ๆ หาย ๆ หลายครั้ง การอักเสบที่เกิดขึ้นในบางรายทำให้กระจกตาบางลงจนทะลุได้
- การอักเสบที่กระจกตาชั้นในสุด มักเกิดจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันในร่างกาย พบกระจกตาขาวขุ่นเช่นกัน
แผลกระจกตาเรื้อรังจากเส้นประสาทกระจกตาผิดปรกติ เป็นภาวะที่เกิดจากเคยมีการติดเชื้อเริม และหลังจากการติดเชื้อหายแล้ว มีความผิดปรกติของเส้นประสาทรับความรู้สึกที่บริเวณกระจกตา ความผิดปรกติที่เกิดขึ้นคือการรับความรู้สึกลดลงหรือเสื่อมลง ทำให้การสร้างน้ำตาลดลง น้ำตาที่ฉาบผิวกระจกตาลดลง เกิดเป็นแผลเปิดเรื้อรังที่กระจกตา ดังรูปด้านล่าง ( บริเวณที่ติดสีชมพู )
การรักษา
- การติดเชื้อที่ชั้นผิวนอกมักหายได้ภายใน 3 สัปดาห์ แพทย์อาจให้การรักษาด้วยการขูดผิวกระจกตาที่ติดเชื้อออก ร่วมกับการให้ยาต้านไวรัส ซึ่งใช้ได้ทั้งรูปยาหยอดหรือยากิน
- สำหรับการอักเสบติดเชื้อที่ชั้นเนื้อ และชั้นในของกระจกตา นอกจากการให้ยาต้านไวรัสแล้ว อาจต้องให้ยาจำพวกสเตียรอยด์ร่วมด้วย ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเป็นราย ๆ ไป
- สำหรับภาวะกระจกตาเป็นแผลจากเส้นประสาทรับความรู้สึกเสื่อม การรักษา ได้แก่ การให้น้ำตาเทียม การอุดท่อน้ำตา เป็นต้น
- ผู้ป่วยบางรายที่มีการติดเชื้อหรือการอักเสบเป็นซ้ำบ่อย ๆ อาจต้องได้รับยาต้านไวรัสในระยะยาว
สำหรับการผ่าตัด ได้แก่ การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตากรณีที่กระจกตาขุ่นขาวจากแผลเป็นซึ่งเกิดจากการติดเชื้อหรือการอักเสบ หรือเป็นการผ่าตัดปิดกระจกตาที่บางจนทะลุ
ภาพขวาแสดงแผลเป็นขาวขุ่นที่กระจกตาจากเคยติดเชื้อหรืออักเสบจากไวรัสเริม ภาพซ้ายแสดงการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา