โดย แพทย์หญิง อรทัย สุวรรณพิมลกุล จักษุแพทย์
ต้อกระจกเกิดจากการขุ่นของเลนส์ตา ซึ่งภาวะต้อกระจกแต่กำเนิด หมายถึง การพบว่าเลนส์ตามีการขุ่นซึ่งเป็นตั้งแต่แรกเกิด ความสำคัญของภาวะนี้ คือ หากไม่ได้รับการวินิจฉัยรักษาโดยเร็วอาจทำให้เด็กสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร อย่างไรก็ตามมิใช่ว่าต้อกระจกทุกชนิดจะบดบังการมองเห็นเสมอไป ถ้าต้อกระจกอยู่ตรงกลางของแนวการมองเห็นถือว่ามีความสำคัญ และอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ แต่หากต้อกระจกมีขนาดเล็กมากหรืออยู่บริเวณด้านข้างของเลนส์ตา ซึ่งไม่บดบังการมองเห็นก็ไม่ก่อให้เกิดปัญหาใด ๆ
ภาวะต้อกระจกแต่กำเนิดอาจเป็นข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ ต้อกระจกที่เป็นข้างเดียวมักจะตรวจไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน ซึ่งเชื่อว่าเป็นการเจริญที่ผิดปรกติของเลนส์ตาเองระหว่างอยู่ในครรภ์ อาจพบความผิดปรกติของลูกตาส่วนอื่น ๆ ร่วมด้วย
สำหรับต้อกระจกที่เป็นสองข้าง อาจมีสาเหตุมาจากโรคทางพันธุกรรมหรือโรคทางกายอื่น ๆ ซึ่งจำเป็นต้องค้นหาโรคทางร่างกายอย่างละเอียด โดยโรคทางกายที่อาจพบร่วมกับต้อกระจก ได้แก่ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โรคทางพันธุกรรมที่เรียกว่า trisomy ( เช่น Down , Edward , Patau syndrome ) โรค myotonic dystrophy , การติดเชื้อบางชนิด ( toxoplasmosis , หัดเยอรมัน , ไวรัส CMV , ไวรัสเริม ) เป็นต้น
อาการ และอาการแสดง
ต้อกระจกแต่กำเนิดพบได้ประมาณ 1.2 - 6 คนต่อ 10,000 บางครั้งอาจไม่สามารถให้การวินิจฉัยได้ทันทีแต่แรกเกิด ฉะนั้นประวัติครอบครัว และประวัติเกี่ยวกับการฝากครรภ์จึงมีความสำคัญต่อการให้การวินิจฉัยในระยะเริ่มแรก
ต้อกระจกแต่กำเนิดบางชนิดอาจมีขนาดเท่า ๆ เดิม ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง แต่บางชนิดมีการดำเนินของโรคมากขึ้น ( มีขนาดใหญ่ขึ้นหรือมีความขุ่นมากขึ้น ) ตามอายุที่มากขึ้น ดังนั้นการติดตามการรักษากับจักษุแพทย์จึงมีความสำคัญ เพื่อป้องกันการสูญเสียการมองเห็น
โดยทั่ว ๆ ไปต้อกระจกที่มีขนาดมากกว่าหรือเท่ากับ 3 มิลลิเมตร และอยู่ตรงกลางของเลนส์ตา ซึ่งตรงกับแนวการมองเห็น ถือว่ามีความสำคัญ โดยต้อกระจกที่เกิดขึ้นนำไปสู่ปัญหา ตาขี้เกียจ
ตาขี้เกียจมีสาเหตุมาจาก ต้อกระจกบดบังการมองเห็นโดยตรงหรือต้อกระจกทำให้เกิดภาวะสายตาเอียงหรือเกิดภาวะต้อหินทำให้ระบบการมองเห็นในตาข้างนั้นไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ในช่วงวัยเด็ก แม้ได้รับการรักษาในภายหลังเมื่ออายุมากขึ้น ก็ไม่อาจทำให้การมองเห็นกลับเป็นปรกติได้
อาการแสดงที่พบ คือ พบเลนส์ตาขุ่น ดูด้วยไฟฉายอาจพบว่ารูม่านตามีสีขาวหรือมีความผิดปรกติของแสงสะท้อนจากลูกตาเวลาถ่ายรูป ( ภาวะปรกติเวลาถ่ายรูปแสงสะท้อนจากแฟลชทำให้เห็นบริเวณรูม่านตาเป็นสีแดง เรียกว่า red reflex )
ภาพแสดง red reflex จากแฟลชของกล้องถ่ายรูป ในตาขวาพบจุดขาว ( ลูกศร ) แสดงว่ามีต้อกระจก
ภาพแสดงต้อกระจกแต่กำเนิด ภาพซ้ายต้อกระจก 2 ตา ภาพขวาต้อกระจกที่ตาซ้าย สังเกตุว่าบริเวณรูม่านตาพบลักษณะขาวขุ่น
ภาพแสดงเลนส์ตาปรกติซึ่งเนื้อเลนส์ต้องมีความใส
ภาพด้านล่างแสดงต้อกระจกแต่กำเนิดชนิดต่าง ๆ เห็นว่าเลนส์ตาที่เป็นต้อกระจกจะขุ่นขาว ไม่ใส
การรักษา
การรักษาหลัก คือ การผ่าตัด โดยแพทย์จะพิจารณาผ่าตัด กรณีที่ต้อกระจกนั้นบดบังแนวการมองเห็นหากพบตั้งแต่แรกคลอด มักจะพิจารณาผ่าตัดโดยเร็วภายใน 2 เดือน เพื่อป้องกันปัญหาตาขี้เกียจ และตาสั่น ( sensory nystagmus )
หากแพทย์พิจารณาแล้วว่าต้อกระจกนั้นไม่บดบังการมองเห็น แพทย์จะนัดติดตามอาการ เพื่อดูว่าต้อกระจกนั้นเป็นมากขึ้นหรือไม่เมื่ออายุมากขึ้น
ภายหลังการผ่าตัดแพทย์อาจต้องให้การรักษาต่อเนื่องในแง่ของสายตา ซึ่งอาจมีการวัดสายตาใส่แว่นหรือใส่คอนแทคเลนส์ หรือปิดตาเพื่อรักษาภาวะตาขี้เกียจ รวมถึงติดตามอาการแทรกซ้อนที่อาจพบได้ เช่น ต้อหินซึ่งผู้ปกครองควรให้ความสำคัญต่อการติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาการมองเห็นสูงสุด
นอกจากการรักษาด้านจักษุ หากผู้ป่วยมีปัญหาโรคทางกายอื่น ๆ ก็จำเป็นต้องให้การรักษาโดยกุมารแพทย์ร่วมด้วยเช่นกัน