โดย แพทย์หญิง อรทัย สุวรรณพิมลกุล จักษุแพทย์
ปัญหาเรื่องน้ำตาไหลเป็นภาวะที่พบได้บ่อย ซึ่งอาการมีตั้งแต่เป็นเล็กน้อย และมีอาการบางครั้ง แต่บางรายอาจเป็นเรื้อรังน้ำตาไหลตลอด
สาเหตุของน้ำตาไหลเกิดจากปัญหาหลัก 2 ประการ คือ
- มีการสร้างน้ำตามากกว่าปรกติ เช่น ขนตาแทงกระจกตา , สิ่งแปลกปลอมที่เยื่อบุตา , หนังตาม้วนออกนอกหรือเข้าใน , เปลือกตาอักเสบ เป็นต้น
- มีการอุดตันของทางระบาย คือ ท่อน้ำตาอุดตัน
ภาพแสดงทางเดินของท่อน้ำตาจากบริเวณหัวตาไปสู่ถุงน้ำตา และลงไปตามท่อน้ำตาเข้าสู่จมูกด้านบน
สาเหตุของท่อน้ำตาอุดตัน : แบ่งได้เป็นสาเหตุปฐมภูมิ และทุติยภูมิ
- สาเหตุปฐมภูมิเชื่อว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของกระดูกตามทางเดินของท่อน้ำตาหรือท่อน้ำตาเคยมีการอักเสบที่ไม่ทราบสาเหตุมาก่อน ต่อมาเกิดเป็นพังผืดรัดทำให้ท่อน้ำตาอุดตัน
- สาเหตุทุติยภูมิ ได้แก่ การติดเชื้อ การอักเสบเรื้อรังจากโรคบางอย่าง การมีก้อนเนื้องอกหรือสิ่งแปลกปลอมที่ท่อน้ำตา อุบัติเหตุ เป็นต้น
บทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะภาวะท่อน้ำตาอุดตันปฐมภูมิ ซึ่งมักพบบ่อยในผู้หญิงวัยสูงอายุโดยเฉพาะในช่วงอายุ 50 - 70 ปี
ภาพเอ็กซเรย์ร่วมกับการฉีดสารพิเศษทางท่อน้ำตาเพื่อดูตำแหน่งที่มีการอุดตัน ฝั่งซ้ายมือของผู้อ่านเห็นบริเวณสีดำเป็นทางยาวถึงจมูก แปลว่าสารพิเศษที่ฉีดเข้าไปไหลได้ดีตามทางเดินของท่อน้ำตา ฝั่งขวามือเห็นบริเวณสีดำเฉพาะที่หัวตาแสดงว่าสารพิเศษที่ฉีดเข้าไปถูกขังอยู่ที่ถุงน้ำตา ไม่มีการไหลไปตามทางเดินท่อน้ำตา
อาการ และอาการแสดง
- อาการที่พบ ได้แก่ น้ำตาไหล มีขี้ตาเหนียวหรือบางคนมีขี้ตาลักษณะเป็นหนอง
- มีการอักเสบติดเชื้อของถุงน้ำตาเป็น ๆ หาย ๆ บางครั้งการอักเสบเป็นอย่างเฉียบพลัน ทำให้เกิดการบวม และเจ็บปวดมากที่บริเวณถุงน้ำตาใกล้หัวตาดังรูปข้างล่าง
- เมื่อกดที่บริเวณถุงน้ำตาจะพบหนองไหลออกมาที่หัวตา
- หากมีอาการน้ำตาไหลมีเลือดปนหรือมีเลือดกำเดาไหลต้องนึกถึงสาเหตุทุติยภูมิ เช่น เนื้องอกที่ท่อน้ำตา
การรักษา
การรักษาด้วยยา :
ใช้ในกรณีที่มีการติดเชื้อแพทย์จะพิจารณาให้ยาปฏิชีวะนะเพื่อลดการติดเชื้อ และการอักเสบที่เกิดขึ้น ยาที่ให้อาจเป็นยาหยอดในกรณีที่ติดเชื้อไม่มาก กรณีที่เป็นรุนแรงแพทย์มักให้ยากินปฏิชีวนะร่วมด้วย เนื่องจากในบางรายหากไม่รับการรักษามีโอกาสที่การติดเชื้อจะลุกลามไปตามเปลือกตาหรือเข้าไปในเบ้าตาได้
ภาพแสดงการติดเชื้อที่เบ้าตา ( orbital cellulitis ) โดยสาเหตุเกิดจากท่อน้ำตาอุดตัน และมีการติดเชื้อที่ท่อน้ำตาโดยไม่ได้รับการรักษา เมื่อการติดเชื้อลุกลามมากขึ้นก็จะเข้าสู่เบ้าตาทำให้เกิดอาการตาบวมแดง ตาโปน และตามัวได้
การผ่าตัด :
เป็นวิธีการรักษาเพื่อให้หายขาดจากภาวะท่อน้ำตาอุดตัน โดยการผ่าตัดจะเป็นการสร้างทางระบายจากบริเวณถุงน้ำตาเข้าสู่จมูกดังรูปข้างล่าง
ภาพซ้ายแสดงถุง และท่อทางระบายน้ำตา ( บริเวณทางสีม่วงที่หัวตา ) โดยกากบาทแดงแสดงบริเวณที่ท่อน้ำตาอุดตัน การผ่าตัดเป็นการสร้างทางเชื่อมใหม่ที่บริเวณถุงน้ำตาเข้าสู่จมูกโดยตรงตามภาพทางขวามือ การผ่าตัดมีทั้งวิธีที่ผ่าโดยผ่านทางผิวหนังด้านนอก ซึ่งวิธีนี้ไม่ต้องดมยาสลบ แต่จะเห็นเป็นรอยแผลเป็นบาง ๆ จากมีดผ่าตัดได้ อีกวิธีเป็นการผ่าตัดโดยการส่องกล้องเข้าทางจมูกซึ่งจะไม่มีรอยแผลเป็นที่ผิวหนัง แต่ผู้ป่วยต้องดมยาสลบในการผ่าตัด
ภาพแสดงรอยผ่าตัด ซึ่งเป็นการผ่าตัดโดยวิธีผ่านทางผิวหนังด้านนอก
การพยากรณ์โรค :
โดยทั่วไปการผ่าตัดภาวะท่อน้ำตาอุดตันมีโอกาสสำเร็จถึง 90 % มีน้อยรายที่อาจต้องทำการผ่าตัดมากกว่า 1 ครั้ง