โดย แพทย์หญิง อรทัย สุวรรณพิมลกุล จักษุแพทย์
โรคจอประสาทตาหลุดลอกเกิดจากการมีสารน้ำไปสะสมอยู่ใต้ชั้นจอประสาทตา ทำให้จอประสาทตาเกิดการหลุดลอยจากผนังลูกตา และเป็นเหตุให้เกิดการสูญเสียการมองเห็น
จอประสาทตา
จอประสาทตา ( retina ) เป็นอวัยวะสำคัญในลูกตาที่ทำหน้าที่เสมือนฟิล์มในกล้องถ่ายรูป คือ เป็นชั้นของประสาทตาที่ทำหน้าที่ในการรับแสง และแปลงเป็นสัญญาณประสาทส่งไปยังสมองเพื่อแปลเป็นภาพต่อไป ภาวะปรกติจอประสาทตาจะแนบไปกับผนังลูกตาด้านใน หากเกิดการหลุดลอกก็จะไม่สามารถทำหน้าที่รับภาพได้อีกต่อไป
ภาพแสดงกายวิภาคของลูกตา แสดงให้เห็นว่าจอประสาทตา ( Retina ) ปรกติจะแนบไปกับผนังลูกตา
สาเหตุ
จอประสาทตาหลุดลอกเกิดจากการที่วุ้นในตามีการเสื่อมสภาพ เปลี่ยนจากลักษณะที่เป็นวุ้นกลายเป็นน้ำมากขึ้น ทำให้เกิดการหดตัวของวุ้นตา หากมีบริเวณที่วุ้นตาติดแน่นอยู่กับจอประสาทตามากกว่าปรกติก็จะทำให้เกิดการดึงรั้งจอประสาทตาเวลาที่วุ้นตาหดตัว จอประสาทตาที่ถูกดึงรั้งอาจฉีกขาดกลายเป็นรู ต่อมามีสารน้ำจากวุ้นตาเซาะเข้าไปตามรูฉีกขาดไปสะสมอยู่ใต้จอประสาทตา เกิดเป็นภาวะที่เรียกว่า จอประสาทตาหลุดลอก
มีบางภาวะที่ทำให้น้ำวุ้นตาเสื่อมสภาพเร็วกว่าปรกติ ได้แก่ สายตาสั้น ไม่มีเลนส์ตา ใส่เลนส์เทียม พันธุกรรม และการอักเสบในลูกตา
ความชุกของจอประสาทตาลอก
การศึกษาในญี่ปุ่นพบการเกิดจอประสาทตาลอกอยู่ที่ประมาณ 10 รายใน 100,000 คนต่อปี สำหรับในประเทศจีนพบประมาณ 11 - 12 รายต่อประชากร 100,000 คนต่อปี ส่วนใหญ่มักพบในช่วงอายุ 40 - 70 ปี
อาการ และอาการแสดง
- มีอาการเห็นไฟแล๊บ คล้ายไฟแฟลช ซึ่งมักมีอาการเวลากลอกตาไปมา และเห็นได้ชัดเวลาที่อยู่ในที่สลัว ๆ เกิดจากจากวุ้นตาดึงรั้งจอประสาทตา
- ลานสายตาคล้ายมีม่านดำมาบัง ทำให้การมองเห็นด้านข้างผิดปรกติ เกิดจากจอประสาทตามีการหลุดลอกแล้ว
- เห็นจุดดำลอยไปมา
- ตามัว เกิดจากจอประสาทตาหลุดลอกจนถึงบริเวณจุดรับภาพตรงกลางจอตา
- ตรวจพบรอยฉีกขาดที่จอประสาทตา และมีสารน้ำสะสมในชั้นใต้จอประสาทตาดังรูปข้างล่าง
ภาพแสดงจอประสาทตาที่หลุดลอกเห็นเป็นชั้นจอตาที่เป็นรอยย่น
การรักษา
การรักษาหลักของภาวะจอประสาทตาลอก คือ การผ่าตัดเพื่อที่จะปิดรูฉีกขาดของจอประสาทตา และทำให้จอประสาทตากลับไปแนบติดอยู่กับผนังลูกตา สำหรับวิธีการผ่าตัดมีหลายวิธี ได้แก่
- การฉายแสงเลเซอร์ ( Photocoagulation ) หรือจี้ความเย็น ( Cryocoagulation ) ร่วมกับการฉีดก๊าซ ( Pneumoretinoplexy )
- การใช้สาย silicone ไปหนุนผนังลูกตาเพื่อให้ผนังตาติดกับจอประสาทตา รวมทั้งเป็นการลดแรงดึงรั้งระหว่างวุ้นตากับจอตา วิธีนี้เรียกว่า scleral buckling procedure
- อีกวิธี คือ การใส่เครื่องมือพิเศษเข้าไปตัดวุ้นตาเพื่อลดแรงดึงรั้ง ทำการดูดน้ำใต้ชั้นจอประสาทตาร่วมกับการเลเซอร์เพื่อปิดบริเวณที่เป็นรูฉีกขาด และใส่แก๊สชนิดพิเศษเพื่อไปดันให้จอประสาทตาติดกลับไปแนบผนังลูกตา เรียกว่า Pars Plana Vitrectomy
ทั้งนี้ต้องให้จักษุแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านจอประสาทตาเป็นผู้ดูแลรักษา และทำการผ่าตัด สำหรับวิธีการผ่าตัดแพทย์จะพิจารณาเป็นราย ๆ ไปว่าต้องใช้วิธีไหน
การพยากรณ์โรค
การมองเห็นจะดีขึ้นมากน้อยแค่ไหนหลังการผ่าตัดภาวะจอประสาทตาลอก ขึ้นกับว่าจอประสาทตาหลุดลอกมากนานแค่ไหน ยิ่งหลุดลอกมานาน โอกาสผ่าตัดสำเร็จจะยิ่งน้อยลง และยังขึ้นกับว่ามีปัญหาหลุดลอกลามมาถึงจุดรับภาพกลางจอตาแล้วหรือไม่
โดยทั่ว ๆ ไปโอกาสที่ผ่าตัดแล้วจอประสาทตากลับไปติดกับผนังลูกตาเหมือนเดิมอยู่ที่ 90 - 95 % แต่มิใช่ผู้ป่วยทุกรายที่จอประสาทกลับไปติดกับผนังตาแล้วการมองเห็นจะฟื้นขึ้นมาดีทุกคน หากจุดรับภาพกลางจอตาไม่มีการหลุดลอกเวลาที่ทำการผ่าตัด การมองเห็นมักจะกลับมาดี แต่ถ้าจุดรับภาพกลางมีการหลุดลอกแล้วโดยเฉพาะเป็นเวลานาน ๆ โอกาสที่การมองเห็นจะฟื้นกลับมาดีก็จะมีน้อยลง
ข้อแนะนำ
ผู้ที่มีอาการ ดังนี้ เห็นจุดดำลอยในตา หรือเห็นแสงไฟแล๊บในตา หรือมีปัญหาการเห็นภาพด้านข้างมัว หรือตามัวต้องรีบมาพบแพทย์ และผู้ที่เคยเป็นจอประสาทตาลอกในตาข้างหนึ่ง ต้องระวังว่าจะเกิดปัญหาจอตาลอกในตาอีกข้างได้ ก็ควรสังเกตอาการดังกล่าวข้างต้นเช่นกัน