โดย แพทย์หญิง อรทัย สุวรรณพิมลกุล จักษุแพทย์
โรคต้อหินที่เป็นมาแต่กำเนิดเป็นภาวะที่แม้พบได้น้อย แต่ทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร การตรวจวินิจฉัยได้ในระยะแรก และได้รับการรักษาอาจช่วยคงสภาพการมองเห็นของเด็กมิให้แย่ลงจนถึงภาวะตาบอดได้
ต้อหินที่เป็นมาแต่กำเนิดเกิดจากความผิดปรกติของทางระบายน้ำในตาที่เรียกว่า trabecular meshwork พบน้อยกว่า 0.05 % ของผู้ป่วยโรคตา โดย 75 % ของผู้ป่วยโรคนี้จะมีอาการทั้งสองตา
อาการ และอาการแสดง
อาการที่สำคัญ ได้แก่ น้ำตาไหลตาสู้แสงไม่ได้ และบีบตา อาการแสดงที่ตรวจพบ
- ความดันตาสูง
- กระจกตาดำ และลูกตามีขนาดใหญ่กว่าปรกติ จากการที่มีความดันตาสูง ทำให้ลูกตาถูกยืดขยายใหญ่กว่าปรกติ
ภาพแสดงภาวะต้อหินแต่กำเนิดตาซ้ายทั้งสองรูป เห็นว่าตาซ้ายมีขนาดใหญ่กว่าตาขวา - กระจกตาบวมจากความดันตาสูง ทำให้ส่วนตาดำเห็นเป็นสีขาวขุ่น ซึ่งหากเป็นรุนแรงโดยกระจกตาเสื่อมมาก แม้รักษาความดันตาจนเป็นปรกติก็อาจไม่สามารถทำให้กระจกตากลับมาใสเหมือนเดิมได้
- ประสาทตาเสื่อม
สาเหตุของโรคแท้จริงยังไม่ทราบ แต่เชื่อว่าอาจเกิดจากความผิดปรกติของพันธุกรรมในยีนบางตัว
การรักษา
- การรักษาด้วยยาลดความดันตาเป็นการควบคุมความดันตาเพียงชั่วคราว เพื่อเตรียมตัวก่อนผ่าตัด
- การผ่าตัดถือเป็นการรักษาหลักในภาวะต้อหินแต่กำเนิด ซึ่งการผ่าตัดเป็นการทำเพื่อเปิดทางระบายน้ำในตาที่ผิดปรกติ ให้สามารถระบายน้ำออกจากตาได้มากขึ้น และช่วยให้ความดันตาลดลง
การพยากรณ์โรค
- ระดับความดันตาเป็นปัจจัยที่สำคัญ หากความดันตาลดลงโอกาสที่จะช่วยคงสภาพการมองเห็นที่มีอยู่ และป้องกันการเสื่อมของประสาทตาก็จะดีขึ้น
- หากกระจกตาดำบวมไม่มาก หลังจากความดันตาลดลงกระจกตาอาจกลับมาใสได้
- กรณีที่แม้ความดันตาจะปรกติแล้ว แต่การมองเห็นยังไม่ดีอาจเกิดจาก กระจกตาเสื่อมสภาพมาก และบวมขุ่นจนไม่สามารถกลับเป็นปรกติได้ , ตาขี้เกียจจากการที่ตาข้างที่เป็นต้อหินไม่ได้รับการกระตุ้นระบบการมองเห็นเหมือนตาปรกติ , สายตาสั้นมาก ๆ
ข้อแนะนำ
ควรเข้าใจว่าแม้ความดันตาเป็นปรกติ หลังจากรักษาแล้ว อนาคตความดันตาอาจสูงขึ้นอีกได้ ฉะนั้นผู้ป่วยควรได้รับการติดตามตรวจตาตลอดชีวิต