โดย แพทย์หญิง อรทัย สุวรรณพิมลกุล จักษุแพทย์
โรคจุดรับภาพจอประสาทตาบวม ( central serous chorioretinopathy : CSC ) เป็นโรคที่มีการบวมน้ำ ทำให้ชั้นของจอประสาทตาที่บริเวณจุดรับภาพตรงกลางแยกออกจากผนังลูกตา
สาเหตุ
สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบ แต่เชื่อว่าเกิดจากความผิดปรกติของเส้นเลือดใต้ชั้นจอประสาทตา ทำให้มีการรั่วของสารน้ำออกมาได้ง่าย และสารน้ำก็เซาะตัวอยู่ใต้ชั้นจอประสาทตาที่บริเวณจุดรับภาพตรงกลาง ทำให้เกิดการตามัว
ปัจจัยเสี่ยง
- มักพบในผู้ที่มีบุคลิกภาพ type A : คือ ค่อนข้างเครียด และจริงจังกับชีวิต
- โรคความดันโลหิตสูง
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- ภาวะที่มีการเพิ่มของฮอร์โมน cortisol และ epinephrine ในร่างกาย
ภาวะ CSC มักเกิดขึ้นเอง และหายได้เองในผู้ป่วยส่วนใหญ่ โดย 80 - 90 % การมองเห็นกลับมาเกือบปรกติ อย่างไรก็ตามในบางคนอาจยังคงมีปัญหาการมองเห็นสีเพี้ยนไปบ้าง หรือเห็นภาพบิดเบี้ยวหลงเหลืออยู่ แม้ว่าจุดรับภาพจะหายจากการบวมน้ำแล้วก็ตาม
- โดยทั่วไปภาวะนี้มักพบในผู้ชายวัยประมาณ 20 - 55 ปี โดยผู้ชายมีโอกาสเกิดมากกว่าผู้หญิง 6 - 10 เท่า
- หากพบภาวะนี้ในผู้สูงอายุต้องระวังว่าจะมีเส้นเลือดผิดปรกติงอกใต้บริเวณจุดรับภาพตรงกลาง ซึ่งเส้นเลือดเหล่านี้จะทำลายเนื้อเยื่อจอประสาทตา และทำให้มีเลือดออกได้
- ในผู้ป่วย 5 - 10 % การมองเห็นอาจไม่กลับมา ซึ่งเกิดจากเซลล์เม็ดสีบริเวณจุดรับภาพตรงกลางมีการเสื่อมมาก
อาการ และอาการแสดง
- ส่วนใหญ่อาการมักเป็นค่อนข้างเฉียบพลัน มีปัญหามองเห็นภาพบิดเบี้ยว เห็นภาพขนาดเล็กกว่าความเป็นจริง ตามัวโดยเฉพาะบริเวณตรงกลางของภาพที่มอง นอกจากนี้การมองเห็นสี ความแตกต่างของวัตถุกับพื้นผิวจะผิดเพี้ยนไป
ตรวจจอประสาทตาเห็นจุดรับภาพตรงกลางมีการบวมน้ำ โดยไม่มีเลือดออก อาจพบจุดไขมันหรือโปรตีนที่รั่วออกมาให้เห็นได้
ภาพแสดงจุดรับภาพตรงกลางบวมน้ำ สำหรับภาพขวาเป็นภาพตัดขวางด้วยเครื่องมือพิเศษ ( OCT ) บริเวณจุดรับภาพ เห็นชั้นจอประสาทตาแยกออกจากผนังลูกตา โดยมีน้ำเซาะอยู่ข้างใต้
การรักษา
ปัจจุบันยังไม่มียาตัวใดที่ได้ผลในการรักษาภาวะนี้อย่างชัดเจน สิ่งสำคัญที่ต้องระวัง คือ ยากลุ่ม steroid จะทำให้ภาวะนี้แย่ลงได้ ฉะนั้นผู้ที่ใช้ยากลุ่มนี้อยู่ควรแจ้งแก่แพทย์ให้ทราบ
- โดยทั่วไปหากมีอาการครั้งแรก แพทย์จะทำการตรวจติดตามจอประสาทตาทุก 2 เดือน เนื่องจากภาวะนี้มีโอกาสหายเองได้ถึง 80 - 90 % ภายใน 3 - 4 เดือน
- การรักษาที่มีในปัจจุบันคือการใช้เลเซอร์ ซึ่งเลเซอร์จะทำในกรณีที่
- ภาวะ CSC ยังอยู่นานกว่า 4 เดือน
- เป็น CSC ซ้ำในตาข้างเดิมที่เคยเป็นแล้วมีการมองเห็นที่ผิดปรกติอยู่
- เป็น CSC โดยตาอีกข้างมีการมองเห็นที่ผิดปรกติจากการเป็นโรคนี้ก่อนหน้า
- มีอาชีพหรืองานที่ต้องใช้สายตาอย่างละเอียดในการทำงาน
- วิธีการเลเซอร์มีทั้งแบบที่เป็นเลเซอร์ความร้อนทำลายจุดที่มีการรั่วของสารน้ำ และการเลเซอร์พิเศษที่ต้องฉีดสารบางอย่างเข้าเส้นเลือดก่อนทำการยิงเลเซอร์ที่จุดรับภาพ ( PDT ) ทั้งนี้แพทย์จะพิจารณาว่าวิธีใดเหมาะสมกับตำแหน่งที่ทำให้เกิดอาการเป็นราย ๆ ไป โดยก่อนทำการเลเซอร์แพทย์จะตรวจจุดที่มีการรั่วของสารน้ำด้วยการฉีดสีเข้าทางเส้นเลือด และถ่ายภาพพิเศษ
การพยากรณ์โรค
- ดังกล่าวข้างต้น ส่วนใหญ่ภาวะนี้จะหายเองได้ อย่างไรก็ตามผู้ที่เคยเป็นโรคนี้จะมีโอกาสเกิดซ้ำได้ 40 - 50 % ซึ่งอาจเป็นในตาข้างเดิมหรืออีกข้างก็ได้
- แม้ว่าการมองเห็นส่วนใหญ่จะกลับมาเกือบปรกติเมื่อหายจากภาวะนี้ แต่ผู้ป่วยอาจรู้สึกว่ายังมีปัญหามองเห็นสีผิดเพี้ยนไปบ้าง หรือเห็นภาพเบี้ยวหลงเหลืออยู่ได้
- ประมาณ 10 % ของผู้ป่วย การมองเห็นจะไม่สามารถกลับมาเหมือนเดิม และกลายเป็นภาวะตามัวเรื้อรังจากการที่มีเซลล์เม็ดสีที่จอประสาทตาเสื่อมสภาพ
ข้อแนะนำ
- ผู้ที่เกิดภาวะ CSC ควรหลีกเลี่ยงจากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดภาวะเครียด อาจหากิจกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยลดความเครียด เช่น การออกกำลังกาย การนั่งสมาธิหรือเล่นโยคะ
- มาพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ