โดย แพทย์หญิง อรทัย สุวรรณพิมลกุล จักษุแพทย์
โรคจุดรับภาพจอประสาทตาเป็นรู ( macular hole ) เป็นโรคที่พบได้มาก โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ภาวะนี้อาจเกิดขึ้นเอง หรือเกิดจากอุบัติเหตุ แต่ส่วนใหญ่ที่พบทางคลินิกจะเกิดขึ้นเองถึง 80 %
ภาพแสดงจอประสาทตาของคนปรกติ โดยจุดรับภาพ ( macula ) จะเป็นบริเวณที่มีสีคล้ำเนื่องจากมีเม็ดสีมากกว่าบริเวณอื่น และเป็นส่วนที่มีความบางที่สุด ความสำคัญของจุดรับภาพนี้คือเป็นบริเวณที่รับภาพในการมองตรง และให้รายละเอียดของภาพมากที่สุด
สาเหตุ
- กรณีที่เกิดจากอุบัติเหตุ พบว่าแรงกระแทกที่เกิดขึ้นจะมีการส่งผ่านไปถึงบริเวณจอประสาทตา ทำให้มีการฉีกขาดอย่างเฉียบพลันของจุดรับภาพ เนื่องจากเป็นบริเวณที่บางที่สุดของจอประสาทตา
- จุดรับภาพเป็นรูที่เกิดขึ้นเอง เชื่อว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบของน้ำวุ้นในลูกตา โดยภาวะปรกติเมื่ออายุมากขึ้นวุ้นตาจะมีความเหลวมากขึ้น และจะหดตัว แยกชั้นจากจอรับภาพด้านหลัง ซึ่งในคนส่วนมาก การแยกตัวของวุ้นตาจากจอรับภาพจะเกิดโดยไม่มีปัญหาอะไร แต่บางกรณีที่จุดรับภาพที่วุ้นตาเกิดติดแน่นมากกว่าปกติ และไม่ยอมหลุดออกมา ดังนั้นเมื่อวุ้นตาหดตัวมากเข้าก็เกิดแรงดึง ทำให้เกิดรูที่จุดรับภาพ
ระยะของโรคจุดรับภาพจอประสาทตาเป็นรู
ระยะ 1 : จุดรับภาพเริ่มมีการแยกชั้นออกจากผนังลูกตา ซึ่งเกิดจากแรงดึงของน้ำวุ้นตา
ระยะ 2 : จุดรับภาพเกิดเป็นรู คือ มีการแยกจากกันของทุก ๆ ชั้นของจอประสาทตาบริเวณจุดรับภาพ ระยะนี้ขนาดของรูมักจะน้อยกว่า 400 ไมครอน
ระยะ 3 : รูที่เกิดขึ้นมีขนาดใหญ่มากกว่า 400 ไมครอน และยังมีส่วนของแรงดึงน้ำวุ้นตาที่ติดกับจอประสาทตา
ระยะ 4 : น้ำวุ้นตามีการหลุดลอกออกจากบริเวณจุดรับภาพที่เป็นรู
ปัญหาสำคัญของภาวะนี้ คือ ทำให้การมองเห็นเลวลงจากการที่เนื้อเยื่อจอประสาทตาที่บริเวณจุดรับภาพตรงกลางมีการแยกออก โดยที่ความรุนแรงของการสูญเสียการมองเห็นไม่ได้แปรผันโดยตรงกับขนาดของรู
โดยทั่วไปพบภาวะนี้ได้ประมาณ 3.3 รายต่อ 1000 คน ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 55 ปี โดยพบได้บ่อยที่สุดในช่วงอายุ 70 ปี และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
ตัวโรคจุดรับภาพเป็นรู หากเป็นระยะ 1 มีโอกาสที่จะหากเองได้ถึง 50 % แต่หากตัวโรคดำเนินเข้าสู่ระยะที่ 2 แล้วส่วนใหญ่จะไม่สามารถหายเองได้ และหากไม่ได้รับการรักษาก็จะมีการดำเนินโรคไปสู่ระยะที่ 3 และ 4 พบว่า 12 % ของผู้ป่วยโรคนี้จะเกิดปัญหาเดียวกันในตาอีกข้างหนึ่ง
อาการทางคลินิก
มักมีอาการเริ่มต้นจากตามัวหรือเห็นภาพบิดเบี้ยว ระยะแรกอาการจะเป็นไม่มาก อาจสังเกตได้เวลาอ่านหนังสือหรือขับรถ หรือบางคนพบอาการโดยบังเอิญจากการปิดตาอีกข้างหนึ่ง เนื่องจากอาการจะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ
ระยะหลังจะมีอาการตามัวอย่างชัดเจน โดยเห็นเป็นจุดดำตรงกลางภาพที่เรามอง
ภาพแสดงอาการเห็นจุดมัวหรือดำตรงกลางภาพ
ภาพแสดงจุดรับภาพเป็นรู
การรักษา
- ปัจจุบันไม่มียาที่ใช้ในการรักษาภาวะนี้
- การรักษา คือ การผ่าตัดเอาวุ้นตาออกเพื่อลดแรงดึงที่บริเวณจุดรับภาพ และใส่แก๊สชนิดพิเศษเข้าในตาเพื่อรีดจอรับภาพ และปิดรูที่เกิดขึ้น โดยทั่วไปการรักษาด้วยการผ่าตัดจะทำในกรณีที่เป็นในระยะที่ 2 , 3 และ 4 แต่หากเป็นระยะแรก คือ ระยะ 1 ส่วนใหญ่เพียงแค่ติดตามอาการเนื่องจากมีโอกาสหายเองถึง 50 %
การพยากรณ์โรค
- ส่วนใหญ่โอกาสน้อยที่การมองเห็นจะกลับมาปรกติ แม้ได้รับการผ่าตัดแล้ว
- การฟื้นตัวของการมองเห็นขึ้นกับว่าเป็นมานานแค่ไหน รูใหญ่หรือเล็ก สภาพของจอประสาทตามีปัญหาอื่นร่วมด้วยหรือไม่
- การฟื้นตัวของการมองเห็นจะน้อยลงหากเป็นมานานกว่า 1 ปี
ภาวะแทรกซ้อน
- การผ่าตัดอาจมีภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น จอประสาทตาหลุดลอก จอประสาทส่วนอื่นฉีกขาด ความดันตาสูงหรือเกิดต้อกระจกภายหลัง
- ปัญหาของจอประสาทตาหลุดลอกหรือฉีกขาดพบได้ประมาณ 2 - 14 %
- สำหรับความดันตาที่สูงสามารถให้การรักษาด้วยยาควบคุมความดันตา
- ต้อกระจกที่อาจเกิดในภายหลังสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดใส่เลนส์เทียม
ข้อแนะนำ :
ผู้สูงอายุทุกคนควรได้รับการตรวจเช็คตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เนื่องจากอาการของโรคนี้ในระยะแรกไม่ชัดเจนอาจทำให้ผู้ป่วยมองข้ามได้