โดย แพทย์หญิง อรทัย สุวรรณพิมลกุล จักษุแพทย์
ประเทศไทยพบว่าการเข้าถึงยาจากการซื้อตามร้านขายยาเป็นเรื่องที่ง่าย และไม่ได้มีการควบคุมอย่างเข้มงวด ทำให้ยาบางประเภทผู้ใช้ ใช้โดยไม่ได้ระมัดระวังถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ กรณีของภาวะต้อหินจากการใช้ยาก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่พบได้เรื่อย ๆ
มียาหลายชนิดที่อาจก่อให้เกิดความดันตาสูง ซึ่งตามมาด้วยภาวะต้อหิน อาจเป็นได้ทั้งต้อหินชนิดมุมเปิดหรือมุมปิด กลุ่มยาที่พบบ่อยได้แก่ยาจำพวกสเตียรอยด์ ( steroid ) ที่พบได้บ่อยที่สุด คือ การให้ยาหยอดตาที่มีสเตียรอยด์ นอกจากนี้ยาสเตียรอยด์ที่ให้ทางอื่น ๆ เช่น ยากิน ยาที่ให้ทางเส้นเลือด ยาที่ใช้สูดดมหรือฉีดเข้าลูกตา ก็ทำให้เกิดความดันตาสูงได้เช่นกัน ยากลุ่มอื่น ๆ เช่น ยาลดอาการซึมเศร้า ยาแก้แพ้ อาจทำให้เกิดต้อหินมุมปิดได้ในผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อภาวะนี้
ต้อหินมุมเปิด
ต้อหินจากการใช้ยาพบมากในลักษณะที่เป็นแบบมุมเปิดมากกว่ามุมปิด ดังกล่าวไปแล้วว่ายาที่ทำให้เกิดบ่อยที่สุด คือ กลุ่มสเตียรอยด์ อย่างไรก็ตามมิใช่ทุกคนที่ใช้ยากลุ่มนี้จะเกิดปัญหาความดันตาสูง ส่วนใหญ่ผู้ที่มีปัญหาต้อหินมุมเปิดจากการใช้สเตียรอยด์มักมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่าง เช่น เป็นโรคต้อหินมุมเปิดปฐมภูมิอยู่ก่อน หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคต้อหิน ผู้ที่มีสายตาสั้นมาก ๆ โรคเบาหวาน เป็นต้น
โดยมากจะพบต้อหินจากการใช้สเตียรอยด์มากที่สุดด้วยวิธีหยอดตาหรือยาฉีดเข้าลูกตา สำหรับการให้ยาทางอื่น ๆ ก็พบได้แต่น้อยกว่า เช่นการให้ยาทางเส้นเลือดหรือการสูดดม
ปัญหาความดันตาสูงจากการใช้สเตียรอยด์พบได้ตั้งแต่ใช้ยาไปประมาณ 2 - 3 สัปดาห์ แต่โดยทั่วไปความดันตาจะกลับสู่ภาวะปรกติได้หลังจากหยุดยาไปประมาณ 2 - 3 สัปดาห์ในผู้ที่ใช้ยาเป็นระยะเวลาไม่นาน มีน้อยคนที่ความดันตาจะสูงอยู่ตลอดจนต้องใช้ยารักษาต้อหินในการควบคุมความดันตา
ต้อหินมุมปิด
ยาบางกลุ่มทำให้เกิดต้อหินชนิดมุมปิด ซึ่งมักพบในผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง คือ มีมุมตาแคบอยู่แต่เดิม ยาที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวได้แก่ ยาลดภาวะซึมเศร้า ( tricyclic antidepressants , monoamine oxidase inhibitors ) ยาแก้แพ้ ( antihistamines ) ยารักษาโรคพาร์กินสัน ยารักษาโรคทางจิตเภท ( antipsychotic )
สาเหตุ
ในกลุ่มยาที่ทำให้เกิดต้อหินมุมเปิด เชื่อว่าเกิดจากตัวยาสเตียรอยด์ทำให้เกิดการสะสมของสาร glycosaminoglycans ที่บริเวณมุมตามากขึ้น ทำให้การระบายของน้ำในลูกตาออกจากตาลดลง เกิดความดันตาสูงได้ ส่วนการเกิดต้อหินมุมปิดมักเกิดจากยาทำให้ม่านตามีการขยายมากขึ้น ม่านตาจึงไปปิดมุมตาทำให้ระบายน้ำในลูกตาออกไม่ได้
ปัญหาสำคัญของภาวะต้อหินมุมเปิดจากการใช้ยาสเตียรอยด์ คือ ผู้ป่วยมักไม่รู้ว่ามีความดันตาขึ้น เพราะอาจไม่มีอาการแสดงใด ๆ ในระยะแรก มักจะพบจากการมาตรวจเช็คตาโดยบังเอิญ ในบางรายมาตรวจด้วยอาการตามัวทั้งสองข้างซึ่งมักจะเกิดจากต้อหินมุมเปิดที่เป็นในระยะรุนแรงแล้ว ฉะนั้นผู้ที่เป็นโรคบางอย่างไม่ว่าจะเป็นโรคทางตา เช่น ภูมิแพ้ที่ดวงตา ม่านตาอักเสบหรือโรคทางกาย เช่น โรคหอบหืด connective tissue disease ที่ต้องใช้ยาสเตียรอยด์ควรได้รับการตรวจสุขภาพตาจากจักษุแพทย์แต่เนิ่น ๆ
แต่สำหรับต้อหินมุมปิดส่วนใหญ่มักมีอาการ เช่น ปวดตา ตาแดง ตามัวเฉียบพลัน ผู้ป่วยจึงมักจะมาพบแพทย์เร็ว
การรักษา
- หากผู้ป่วยสามารถที่จะหยุดยาได้ โดยทั่วไปความดันตามักกลับสู่ภาวะปรกติได้
- กรณีที่เป็นโรคที่ต้องใช้ยาสเตียรอยด์อาจต้องพิจารณาใช้ยาที่มีความแรงลดลงหรือให้ยาลดการอักเสบกลุ่มอื่น ทั้งนี้ต้องพิจารณาถึงผลกระทบต่อโรคอื่น ๆ ที่เป็นอยู่ด้วย
- ในบางกรณีที่หยุดยาสเตียรอยด์แล้วแต่ยังคงมีความดันตาสูงเรื้อรังหรือมีโรคที่จำเป็นต้องใช้ยาสเตียรอยด์ไม่สามารถหยุดได้ ควรได้รับการควบคุมความดันตาด้วยยารักษาต้อหิน ซึ่งควรอยู่ในดุลยพินิจของจักษุแพทย์
- สำหรับต้อหินมุมปิดจากการใช้ยา การรักษาที่ดีที่สุด คือ การหยุดยาเช่นกัน
- การรักษาโดยการผ่าตัดมักใช้ในกรณีที่ยาหยอดรักษาต้อหินไม่สามารถควบคุมความดันตาได้
ข้อแนะนำ
- ผู้ที่จำต้องใช้ยาสเตียรอยด์หรือยาที่มีสเตียรอยด์ผสมอยู่ควรได้รับการตรวจตาโดยจักษุแพทย์ และควรมาตรวจติดตามเรื่องความดันตาโดยสม่ำเสมอ ซึ่งความดันตาขึ้นได้ตั้งแต่ใช้ยาเพียงแค่ 2 - 6 สัปดาห์
- หากมีการหยุดการใช้ยาแล้ว ควรได้รับการตรวจเช็คจนแน่ใจว่าความดันตากลับสู่ภาวะปรกติ
- ผู้ที่ต้องใช้ยารักษาต้อหินในการควบคุมความดันตาต้องตรวจติดตามเรื่องต้อหินกับจักษุแพทย์อย่างสม่ำเสมอ