สายตายาวผู้สูงอายุ ( Presbyopia )
โดย ดร.นพดล ศรีสุรัตนเมธากุล Doctor of Optometry
ประเภทของสายตายาว
สายตายาวสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิดคือ สายตายาวโดยกำเนิด กับ สายตายาวของผู้สูงอายุ ซึ่งสายตายาวโดยกำเนิดจะเกิดจากการที่มีลูกตาเล็กกว่าปกติ ทำให้ภาพของวัตถุที่อยู่ในระยะไกล เมื่อผ่านเข้าสู่ตาแล้วจะไปโฟกัสที่ด้านหลังของจอประสาทตา ซึ่งถ้าอยู่ในสภาวะที่ระบบปรับกำลังสายตา ( Accommodation ) ไม่ได้ทำงานก็จะทำให้ภาพที่เห็นไม่ชัดเจน แต่ถ้าเป็นสายตายาวผู้สูงอายุจะเกิดจากความสามารถของระบบปรับกำลังสายตาที่ลดลง ทำให้สูญเสียความสามารถในการมองระยะใกล้ โดยที่การมองเห็นระยะไกลอาจจะยังชัดเจนดีอยู่
โดยปกติแล้วการที่เราสามารถมองเห็นได้ชัดเจนทั้งระยะใกล้และไกล จะเกิดจากการที่เรามีระบบปรับกำลังสายตาซึ่งจะทำงานโดยอัตโนมัติ ระบบปรับกำลังสายตาจะประกอบด้วย เลนส์ตา และกล้ามเนื้อที่ใช้ควบคุมการแบนหรือนูนของเลนส์ตา ( Ciliary muscle ) เพื่อให้โฟกัสของภาพไปตกพอดีที่จอประสาทตาตามระยะที่เราต้องการจะมอง
กล้ามเนื้อควบคุมเลนส์ตา
การทำงานของระบบปรับกำลังสายตานั้นจะขึ้นอยู่กับระยะของวัตถุที่เราต้องการมอง โดยที่เมื่อเราต้องการมองวัตถุที่อยู่ในระยะไกลระบบปรับกำลังสายตาของเราจะอยู่ในสภาวะผ่อนคลาย คือ กล้ามเนื้อที่ใช้ควบคุมเลนส์ตาจะคลายตัว ทำให้เลนส์ตาแบนตัวลง ถ้าในคนที่มีสายตาปกติ ภาพที่ผ่านเข้ามาในตาก็จะไปโฟกัสพอดีที่จอประสาทตา แต่ถ้าเราต้องการมองวัตถุที่อยู่ใกล้เข้ามา ระบบปรับกำลังสายตาก็จะเริ่มทำงานโดยที่กล้ามเนื้อที่เป็นตัวควบคุมเลนส์ตาจะหดตัว ทำให้เลนส์ตานูนขึ้น ภาพที่ผ่านเข้ามาในตาก็จะไปโฟกัสพอดีที่จอประสาทตา
ในสภาวะปกติระบบปรับกำลังสายตานั้นจะค่อย ๆ ลดประสิทธิ์ภาพลงเรื่อย ๆ เนื่องจากการสูญเสียความยืดหยุ่นของเลนส์ตา และสูญเสียความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่ใช้ควบคุมการปรับตัวของเลนส์ตา จนถึง ณ จุดหนึ่ง ซึ่งระบบปรับกำลังสายตาไม่เพียงพอต่อการโฟกัสภาพที่อยู่ในระยะใกล้ ทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจน
สายตายาวผู้สูงอายุ
เพราะฉะนั้นสายตายาวผู้สูงอายุจึงหมายถึง การที่ภาพของวัตถุที่อยู่ในระยะใกล้นั้นจะตกที่บริเวณด้านหลังของจอประสาทตา โดยที่ระบบปรับกำลังสายตาไม่สามารถปรับโฟกัสภาพให้ชัดได้ เนื่องจากการสูญเสียความยืดหยุ่นของเลนส์ตารวมถึงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่ใช้ควบคุมระบบการปรับกำลังสายตาลดลง ทำให้ภาพที่อยู่ในระยะใกล้ไม่ชัดเจน
อาการของคนที่มีปัญหาสายตายาวสูงอายุ คือ มองระยะใกล้ไม่ชัด เวลาอ่านหนังสือต้องยื่นมือออกไป มากกว่าปกติ ในระยะแรก ๆ บางคนอาจจะยังสามารถมองเห็นระยะใกล้ได้ดีแต่ว่าไม่สามารถใช้สายตาระยะใกล้ติดต่อกันได้เป็นเวลานาน ๆ อาจจะมีอาการปวดตาหรือปวดหัว เมื่อใช้สายตาไปได้ซักระยะหนึ่ง โดยส่วนใหญ่ในคนที่มีสายตามองไกลปกติจะเริ่มมีปัญหาสายตายาวสูงอายุ ตอนอายุประมาณ 40 ปี แต่ถ้าในคนที่มีปัญหาสายตายาวโดยกำเนิดอยู่แล้วก็จะทำให้สามารถมีปัญหาสายตายาวสูงอายุเร็วกว่าคนอื่น
การแก้ปัญหาสายตายาวสูงอายุนั้นสามารถทำได้หลายวิธี แต่วิธีที่นิยมมากที่สุดก็คือ การใช้แว่นสายตายาวหรือแว่นที่เป็นเลนส์นูน ( + ) เพื่อชดเชยกำลังสายตาที่ขาดไป ทำให้ภาพของวัตถุที่อยู่ในระยะใกล้กลับมาตกพอดีที่จอประสาทตา ทำให้สามารถกลับมามองเห็นระยะใกล้ได้ชัดเจน
ซึ่งตัวเลนส์ก็จะมีให้เลือกหลายชนิด ทั้งแบบที่เป็นเลนส์ชั้นเดียว เลนส์ 2 ชั้นมีรอยต่อ และเลนส์หลายชั้นไร้รอยต่อ ซึ่งคุณสมบัติของเลนส์แต่ละชนิดก็จะแตกต่างกันออกไป
ข้อเด่น - ข้อด้อยของเลนส์แต่ละชนิด
ชนิดของเลนส์ | ข้อเด่น | ข้อด้อย |
เลนส์ชั้นเดียว | - ราคาถูก - มุมมองระยะใกล้กว้าง - ตรวจวัดและประกอบเลนส์ง่าย | - มองได้แค่เพียงระยะเดียว - ไม่เหมาะสำหรับคนที่ใช้คอมพิวเตอร์ - ไม่สามารถใส่มองระยะกลางและระยะไกลได้ - ไม่สะดวกสบาย - เสียบุคลิกภาพ |
เลนส์ 2 ชั้นมีรอยต่อ | - ราคาถูก - สามารถมองได้ทั้งใกล้และไกล - ตรวจวัดและประกอบเลนส์ง่าย | - ไม่สามารถมองระยะกลางได้ - ไม่เหมาะสำหรับคนที่ใช้คอมพิวเตอร์ - ขาดความนุ่มนวลเวลาเปลี่ยนระยะการมอง - เสียบุคลิกภาพ |
เลนส์หลายชั้นไร้รอยต่อ | - สามารถมองได้ทุกระยะ - ให้ความเป็นธรรมชาติในการมอง - สะดวกสบาย - เสริมบุคลิกภาพ | - ราคาแพง - ต้องตรวจวัดและประกอบเลนส์โดยผู้เชี่ยวชาญ |