ต้อกระจกเป็นปัญหาทางสายตาที่มีผลต่อประชาคมโลกมานาน องค์การอนามัยโลกประเมินว่าทั่วโลก หกพันล้านมีคนตาบอดประมาณ 35 - 40 ล้าน ซึ่งเป็นผลของต้อกระจก และโรคแทรกจากต้อกระจกถึง 45 % โดยเฉพาะในแถบประเทศที่ไม่ร่ำรวยนักซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณที่มีแสงแดดจัด
ภาวะนี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเลนส์ตาทำให้เลนส์ตาขุ่นโดยพบว่าสาเหตุของต้อกระจก ได้แก่
- เป็นแต่กำเนิด ซึ่งอาจเกิดจากโรคติดเชื้อในครรภ์มารดา
- อุบัติเหตุ
- อายุ โดยต้อกระจกพบได้ในผู้สูงวัยทุกคน หากแต่ละคนไม่จำเป็นต้องมีความรุนแรงที่เป็นเท่ากันที่อายุเดียวกัน
- การอักเสบทั้งจากการติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ
- การรับรังสี
- โรคที่เกิดจากการขาดอาหาร
- โรคทางพันธุกรรมบางอย่าง
สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดเกิดจากอายุที่มากขึ้น อย่างไรก็ตามแม้ว่าต้อกระจกจะทำให้การมองเห็นแย่ลง และในบางคนจนอาจเป็นสาเหตุให้ตาบอดได้จากภาวะแทรกซ้อน แต่หากได้รับการรักษาในระยะแรก ๆ ก็สามารถทำให้การมองเห็นกลับมาเหมือนเดิมได้
บทความนี้จะกล่าวในส่วนของต้อกระจกที่เกิดจากภาวะสูงอายุเป็นหลัก ปรกติเลนส์ตาของเราจะมีความใสเพื่อให้แสงสามารถผ่านเข้าสู่ชั้นจอประสาทตาซึ่งทำหน้าที่ในการรับภาพ เลนส์ตาประกอบด้วยชั้นต่าง ๆ ได้แก่ ถุงหุ้มเลนส์( lens capsule ) , เนื้อเลนส์ชั้นนอก ( lens cortex ) และเนื้อเลนส์ชั้นในหรือส่วนที่อยู่ตรงกลาง ( lens nucleus )
ภาพแสดงเลนส์ตา ( crystalline lens ) ของคนปรกติ เมื่อยังไม่มีภาวะต้อกระจกจะมีความใส
ภาพแสดงชั้นต่าง ๆ ของเลนส์ตา เส้นขอบดำเป็นส่วนของถุงหุ้มเลนส์ , สีเหลืองเป็นเนื้อเลนส์ชั้นนอก , สีฟ้า และสีม่วงเป็นส่วนของเนื้อเลนส์ส่วนกลาง
โดยปรกติเลนส์ตาจะมีการเปลี่ยนแปลงตามอายุที่มากขึ้น คือ เลนส์ตามีความหนา แข็งขึ้น และขุ่นขึ้น ซึ่งภาวะต้อกระจกเกิดจากการขุ่นของเลนส์ในชั้นต่าง ๆ กัน ทำให้แบ่งต้อกระจกได้ตามลักษณะที่ตรวจพบว่ามีการขุ่นของเลนส์ตาในชั้นใด โดยทั่วไปแบ่งได้ 4 ชนิด คือ nuclear cataract : เกิดจากการขุ่นของเลนส์ที่เนื้อเลนส์ตรงกลาง เห็นเลนส์ตามีสีเหลืองมากขึ้นจนอาจเป็นสีน้ำตาลเข้ม ( ต้องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ )
รูปแสดง nuclear cataract : ซ้ายมีการขุ่นน้อยเห็นเนื้อเลนส์เป็นสีเหลืองอ่อน กลางมีการขุ่นมากขึ้น และรูปขวามีการขุ่นมากเห็นเลนส์เป็นสีน้ำตาลเข้ม
cortical cataract : เกิดการขุ่นของเนื้อเลนส์ชั้นนอก มักเห็นเป็นสีขาวขุ่นที่เลนส์ ถ้าเป็นมาก ๆ ก็จะเห็นเลนส์ตาเป็นสีขาวขุ่นทั้งอัน หรือที่เรียกว่า ต้อกระจกสุก นั่นเอง
รูปแสดง cortical cataract : รูปซ้ายเห็นบางส่วนของเลนส์ตาเป็นสีขาวขุ่นในชั้นนอกของเนื้อเลนส์ รูปขวาเป็นลักษณะที่เป็นมาก ๆ เรียกว่า ต้อกระจกสุก
anterior subcapsular cataract : เป็นการขุ่นของชั้นเลนส์ที่อยู่รอบนอกสุดติดกับเยื่อหุ้มเลนส์ด้านหน้า
รูปแสดง anterior subcapsular cataract
posterior subcapsular cataract : เป็นการขุ่นของชั้นเลนส์ที่อยู่รอบนอกสุดติดกับเยื่อหุ้มเลนส์ด้านหลัง
รูปแสดง posterior subcapsular cataract
อาการโดยทั่วไปของผู้เป็นต้อกระจก คือ
- ตามัวลง โดยมากจะค่อยๆมัวลงช้า ๆ ทีละน้อย นอกจากกรณีอุบัติเหตุหรือโรคอื่น ๆ บางชนิดอาจมัวได้อย่างรวดเร็ว
- การลดลงของ contrast sensitivity ( การแยกความแตกต่างของความมืด - สว่าง ) เมื่ออยู่ในที่แสงจ้า หรือการมองดวงไฟในเวลากลางคืน
- myopic shift คือ การเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็น สายตาสั้น มากขึ้น คือ การมองไกลจะไม่ค่อยชัด และการมองระยะใกล้จะชัดเจนกว่า พบในต้อกระจกชนิด nuclear cataract
- monocular diplopia คือ เห็นภาพซ้อนเหมือนมีวัตถุปกติใดใดมากกว่าหนึ่งอัน ทั้งที่มองด้วยตาข้างเดียว
- glare เห็นดวงไฟเป็นแสงกระจาย มักเห็นชัดเวลาขับรถกลางคืนหรือสู้แสงไม่ได้
- ปวดตา และมีต้อหินแทรก เป็นภาวะที่อันตรายเนื่องจากต้อหินที่เกิดขึ้น จะทำให้ความดันในลูกตาสูง และประสาทตาเสื่อมตามมาได้ จะมีอาการมัวลงเรื่อย ๆ และแก้ไขให้มองเห็นใหม่ได้ยากหรือบางครั้งอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร มักพบในคนที่ต้อกระจกสุกหรือเลนส์ตามีความหนามาก ๆ
การรักษา
- การรักษาโดยการใช้ยา ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่ายาหยอดหรือยากินใด ๆ ที่จะช่วยลดการเกิดภาวะต้อกระจกได้
- ถ้าผู้ป่วยต้อกระจกมีอาการตามัวหรือมองเห็นได้ลำบากจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันหรือต้อกระจกนั้นเป็นมากจนมองไม่เห็น หรืออาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายจนทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร ก็ควรเข้ารับการรักษาผ่าตัดเอาต้อกระจกออก และใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ เพื่อให้มีการมองเห็นที่ดีขึ้น
- การรักษาที่ทำให้ภาวะต้อกระจกหายขาดได้ คือ การผ่าตัดเอาเลนส์ออก และใส่เลนส์เทียมเข้าไปทดแทน วิธีการผ่าตัดมีหลายแบบขึ้นกับลักษณะ และความรุนแรงของต้อกระจกที่เป็น
- ปัจจุบันวิธีการผ่าตัดต้อกระจกได้รับการพัฒนาจนมีความก้าวหน้ามาก โดยทั่วไปวิธีที่นิยมมากที่สุด คือ การสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงอัลตราซาวน์ และดูดเอาส่วนของต้อกระจกที่สลายเป็นชิ้นเล็ก ๆ ออก แล้วใส่เลนส์เทียมเข้าไปทดแทน ( Phacoemulsification )
โดยมีหลักในการทำ คือ แพทย์จะใช้ใบมีดขนาดเล็กเจาะเปิดแผลขนาดประมาณ 2.6 - 3.0 มม. ที่ขอบกระจกตาดำ แล้วสอดเครื่องมือเข้าไปในช่องลูกตาส่วนหน้า เพื่อตัดเปิดบางส่วนของถุงหุ้มเลนส์ที่หุ้มต้อกระจกออก แล้วใช้ส่วนปลายของท่อคลื่นเสียงอัลตราซาวน์สอดเข้าไปสลายต้อกระจกให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วดูดออกจนหมด
จากนั้นจะทำการใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ในถุงหุ้มเลนส์เดิม ซึ่งจะทำให้เลนส์แก้วตาเทียมอยู่ในตำแหน่งเดียวกับเลนส์แก้วตาธรรมชาติ และไม่สามารถเคลื่อนหลุดได้
สำหรับแผลที่ขอบกระจกตาดำนี้มีขนาดเล็กมาก จึงสามารถสมานปิดเป็นปรกติได้เอง โดยอาจไม่จำเป็นต้องเย็บแผล
นอกจากนี้ผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดสลายต้อกระจกด้วยวิธีดังข้างต้น ไม่จำเป็นที่จะต้องนอนค้างที่โรงพยาบาล สามารถรับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้ และทำกิจวัตรประจำวันหรือทำงานได้ตามปรกติตั้งแต่เมื่อผ่าตัดเสร็จ การฟื้นสภาพการมองเห็นจะเกิดขึ้นเร็วและคงที่ภายใน 1 - 2 สัปดาห์
สำหรับการผ่าตัดรูปแบบอื่น ได้แก่ การผ่าตัดเอาต้อกระจกออกทั้งก้อนแบบเปิดแผลกว้าง ( Extracapsular cataract extraction ) วิธีนี้เป็นวิธีการรักษาเดิมที่ใช้ได้ผลดี อาจจำเป็นในกรณีที่ต้อกระจกมีความแข็งมาก ๆ หรือต้อสุกมากหรือมีเลนส์ตาเคลื่อนจากตำแหน่งปรกติ
โดยแพทย์จะทำการเปิดแผลที่เยื่อบุตา และผนังลูกตาใกล้ขอบกระจกตาดำ กว้างประมาณ 8 - 13 มม. จากนั้นจะตัดบางส่วนของถุงหุ้มเลนส์ตาที่เป็นต้อกระจกออก นำต้อกระจกออกมาทั้งก้อน แล้วจึงใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ สุดท้ายจึงเย็บปิดแผลด้วยเส้นไหมที่มีขนาดเล็กมาก ( เล็กกว่าเส้นผม )
การผ่าตัดวิธีนี้ใช้เวลาพักฟื้น และการฟื้นสภาพสายตานานประมาณ 4 - 6 สัปดาห์ และมีข้อจำกัดในการทำกิจกรรมต่าง ๆ บ้างในช่วงแรก แต่หลัง 1 เดือน ไปแล้วก็สามารถปฏิบัติตัวตามปรกติได้ อย่างไรก็ตามในระยะยาวแม้ว่าแผลที่ตาจะหายดีแล้ว แต่เนื่องจากการผ่าตัดที่มีรอยแผลกว้างร่วมกับการหายของแผลบริเวณเนื้อเยื่อที่เป็นตาขาวจะไม่สมานเป็นเนื้อเดียวกันเหมือนธรรมชาติ ทำให้บริเวณนี้เป็นจุดอ่อนของลูกตาที่หากได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรงจะทำให้ตาแตกได้ ผู้ป่วยที่เคยรับการผ่าตัดต้อกระจกแบบนี้ จึงควรระมัดระวังตัวเองจากอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่อาจกระทบกระเทือนมาถึงดวงตาได้
สำหรับเลนส์แก้วตาเทียม ( Intraocular lens : IOL ) เป็นวัสดุสังเคราะห์ที่ทำขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่แทนเลนส์แก้วตาธรรมชาติที่มีปัญหาจนต้องผ่าตัดเอาออกไป เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมามองเห็นได้อีกครั้งหนึ่ง เลนส์แก้วตาเทียมทำจากสารที่มีคุณสมบัติเข้ากันได้ดีกับเนื้อเยื่อภายในลูกตา ไม่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาของร่างกายต่อวัตถุแปลกปลอมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ PMMA , Silicone และ Acrylic โดยสองชนิดหลังจะถูกใช้ในการทำเลนส์พับที่สามารถพับสอดผ่านเข้าแผลผ่าตัดสลายต้อกระจกที่มีขนาดเล็กได้
รูปทรงของเลนส์แก้วตาเทียมประกอบด้วย ส่วนกลางของเลนส์ ( optic ) และขาเลนส์ ( haptic ) มีแตกต่างกันไปหลายแบบ แต่ก็ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้เลนส์มีความเสถียร และวางตัวอยู่ตรงกลางถุงหุ้มเลนส์ได้ดี ชนิดของเลนส์แก้วตาเทียมแบ่งได้ดังนี้
Monofocal IOL เป็นเลนส์ที่โฟกัสภาพระยะเดียวจะทำให้มองเห็นในระยะไกลได้ชัดเจนดี แต่ต้องใช้แว่นตาช่วยในการมองระยะใกล้ เพราะมีกำลังในการหักเหแสงเพียงกำลังเดียว
เลนส์ที่มีจุดโฟกัสภาพหลายระยะ ( Multifocal IOL ) ช่วยให้สามารถมองเห็นได้ชัดทุกระยะโดยไม่จำเป็นต้องสวมแว่นตา สังเกตว่า optic ของเลนส์แก้วตาเทียมจะมีลักษณะเป็นวง ๆ หลายวง ซึ่งแต่ละวงจะมีกำลังในการหักเหแสงแตกต่างกัน ทำให้มองเห็นได้หลายระยะ
อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะทำให้สามารถมองได้หลายระยะ แต่ในเรื่องของ contrast sensitivity ( การแยกความแตกต่างของความมืด - สว่าง ) อาจสู้ชนิดของเลนส์ที่มีความชัดระยะเดียวไม่ได้
เลนส์ที่สามารถเคลื่อนขยับตัวเพื่อปรับโฟกัสได้เอง ( Accommodative IOL ) คล้ายลักษณะการทำงานของเลนส์แก้วตาธรรมชาติ ทำให้มองได้ชัดทั้งไกลใกล้ โดยไม่ต้องใช้แว่นตา แต่เลนส์ชนิดนี้ยังไม่ได้มีการนำมาใช้ทางคลินิกเท่าไรนัก เนื่องจากผลที่ได้จากการทดลองยังไม่แน่นอน
เลนส์ที่แก้ค่าสายตาเอียงในตัว ( Toric IOL ) ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้แว่นตาแก้สายตาเอียงหลังผ่าตัดในผู้ป่วยที่มีสายตาเอียงอยู่เดิม แต่ทั่วไปที่มีตามท้องตลาดจะสามารถแก้ภาวะสายตาเอียงได้ประมาณ 100 - 200 เท่านั้น ตัวเลนส์จะมี marker ที่ทำให้จักษุแพทย์สามารถวางเลนส์แก้วตาเทียมได้ตามองศาของสายตาเอียง
ข้อปฏิบัติตัวหลังผ่าตัด
- ในวันแรกของการผ่าตัด ควรปิดตาไว้ยังไม่ต้องเปิดหยอดยา แพทย์จะนัดมาเปิดตาในวันรุ่งขึ้น
- สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน รับประทานอาหาร และยาประจำตัวรวมทั้งยากลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือดได้ตามปรกติ ตั้งแต่ผ่าตัดเสร็จ ถ้ามีข้อห้ามเฉพาะแพทย์จะแจ้งให้ทราบเป็นราย ๆ ไป
- หลีกเลี่ยงอย่าให้น้ำเข้าตาประมาณ 1 - 2 สัปดาห์ ใช้เช็ดหน้าแทนการล้างหน้า งดสระผม หรือถ้าจะสระผมควรใช้วิธีนอนหงายให้ผู้อื่นสระให้
- แพทย์จะสอนวิธีเช็ดทำความสะอาดรอบดวงตาข้างที่ผ่าตัด ควรทำทุกวันอย่างน้อยวันละครั้ง แต่ไม่ต้องปิดผ้าได้ถ้าไม่รู้สึกเคืองตา การครอบฝาเพื่อกันกระแทกหรือการเผลอไปขยี้ตา จึงควรครอบฝาที่ตาไว้ตลอดเวลา โดยเฉพาะเวลานอน ตอนกลางวันถ้าไม่อยากครอบฝาอาจสวมแว่นกันแดดแทนได้
- หลีกเลี่ยงฝุ่น ควันอย่าให้เข้าตา ตลอดช่วงเวลาที่ห้ามน้ำเข้าตา
- หยอดยา ป้ายยา รับประทานยาตามที่แพทย์กำหนด
- มาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
- ถ้ามีอาการอะไรก็ตามที่ทำให้รู้สึกว่าแย่ลง เช่น เคืองตามากขึ้น ปวดตา ตากลับมาแดง ขี้ตามากขึ้น เปลือกตาบวม หรือการมองเห็นลดลง ต้องรีบพบแพทย์ทันที ไม่ต้องรอจนถึงวันนัดตรวจครั้งต่อไป เพราะอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายเกิดขึ้นหลังผ่าตัดได้
ภาวะถุงหุ้มเลนส์เทียมขุ่น( posterior capsular opacification : PCO )
ที่นำมากล่าวในบทความนี้เนื่องจากภาวะ PCO เป็นภาวะที่พบได้บ่อยหลังจากทำผ่าตัดต้อกระจกสักระยะหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้ตามัวลงได้ อย่างที่กล่าวในข้างต้นคือการผ่าตัด