โดย แพทย์หญิง อรทัย สุวรรณพิมลกุล จักษุแพทย์
โรคจอประสาทตาเสื่อม ( age - related macular degeneration ; AMD ) เป็นโรคที่อาจรู้จักกันไม่มากนักในคนไทย แต่เป็นโรคทางตาที่สำคัญมากโรคหนึ่ง เพราะทำให้สูญเสียการมองเห็นได้อย่างถาวร โดยทั่วไปโรคนี้มักพบในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป สาเหตุของการสูญเสียการมองเห็นเกิดจากความเสื่อมที่บริเวณจุดศูนย์กลางของจอประสาทตา ( macula ) ความผิดปรกติของการมองเห็นที่เกิดขึ้น ได้แก่ มองเห็นภาพไม่ชัด เห็นเส้นตรงกลายเป็นคลื่นหรือบิดเบี้ยว หรือมีจุดดำ ๆ ตรงกลางภาพ
โรคจอประสาทตาเสื่อมเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่การทราบถึงปัจจัยเสี่ยง อาการที่เกิดขึ้น อาจช่วยให้วินิจฉัยโรคได้เร็วขึ้นและได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรก
จุดศูนย์กลางของจอประสาทตา คือ อะไร ?
ภาพแสดงจุดศูนย์กลางหรือจุดรับภาพตรงกลางของจอประสาทตา ( macula ) และภาพทางขวาเป็นลักษณะของจุดรับภาพที่ปรกติ บริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่มีความไวต่อแสงมาก ทำหน้าที่เกี่ยวกับการมองเห็นภาพตรงกลางของลานสายตา ให้รายละเอียด และความชัดเจนของภาพที่เรามองเห็นมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับบริเวณอื่นของจอประสาทตา นอกจากนี้ยังมีความสำคัญต่อการมองภาพสี หากมีพยาธิสภาพเกิดขึ้นที่จุดนี้ การมองเห็นภาพตรงกลางของลานสายตาจะเปลี่ยนไป
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม
- อายุที่มากขึ้น
- เชื้อชาติ โดยมักพบในคนผิวขาว อย่างไรก็ตามในคนไทยโรคนี้ก็พบได้ไม่น้อยเช่นกัน
- การสูบบุหรี่
- ความดันโลหิตสูง
- ไขมันคลอเรสเตอรอลในเลือดสูง
- สายตารับแสงอาทิตย์โดยตรง
โรคจอประสาทตาเสื่อมซึ่งมีความผิดปรกติที่ macula แบ่งได้ 2 ชนิด คือ
- non - exudative ( dry AMD )
- exudative ( wet AMD )
Non - exudative ( dry AMD )
ความผิดปกติในกลุ่มนี้พบได้ประมาณ 85 % ของผู้ป่วย AMD ทั้งหมด กลุ่มนี้จะมีการดำเนิน ของโรคอย่างช้า ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่ม wet AMD แต่ในรายที่เป็นรุนแรงก็ทำให้สูญเสียการมองเห็นได้อย่างมาก พยาธิสภาพที่เกิดขึ้นเกิดจากการสะสมของสารของเสียที่เกิดในชั้นใต้จอประสาทตา เห็นเป็นลักษณะจุดเหลือง ๆ ที่บริเวณจุดรับภาพตรงกลางของจอประสาทตา เรียกว่า drusen
ภาพแสดงการสะสมของสารของเสียที่บริเวณใต้ชั้นจอประสาทตาเห็นเป็นจุดเหลือง ๆ หรือ drusen
การเกิดของ drusen จำนวนมากทำให้การไหลเวียนของเลือดที่ชั้นจอประสาทตา โดยเฉพาะบริเวณจุดรับภาพตรงกลางผิดปรกติไป การทำงานของเซลล์บริเวณนี้จึงมีการเสื่อมสภาพ และตายไปในที่สุด บริเวณที่มีการเสื่อมอาจมีตั้งแต่จุดเสื่อมเล็ก ไม่มีผลต่อการมองเห็นนัก จนถึงระยะรุนแรงคือ มีการเสื่อมเป็นบริเวณกว้าง เรียกว่า geographic atrophy ซึ่งทำให้การมองเห็นเสียได้อย่างถาวร
ภาพแสดง drusen ร่วมกับมีบริเวณที่เสื่อมของจุดรับภาพ เห็นเป็นบริเวณกระดำกระด่าง
ภาพแสดงจุดรับภาพตรงกลางมีการเสื่อม ที่เรียกว่า geographic atrophy
อาการที่พบ : มองเห็นชัดบ้างมัวบ้าง ความชัดของภาพที่เห็นลดลง อ่านหนังสือลำบาก การแยกการมองเห็นสีลำบาก ภาพบิดเบี้ยว ความสว่างของภาพเปลี่ยนไป และจุดดำตรงกลางภาพ
การรักษาภาวะ dry AMD
ต้องยอมรับว่าการป้องกันเป็นวิธีการที่ดีที่สุด เนื่องจากภาวะ dry AMD ไม่มีการรักษาเมื่อเกิดพยาธิสภาพขึ้นแล้ว การศึกษาที่ผ่านมาพบว่าในรายที่เป็น dry AMD ในตาข้างหนึ่งแล้ว การรับประทานสารพวก antioxidant ซึ่งประกอบด้วย vitamin A , vitamin E , zinc และ lutein อาจช่วยป้องกันการเกิดโรคในตาอีกข้างหนึ่งได้ นอกจากนี้การพยายามลดปัจจัยเสี่ยงที่เราควบคุมได้ อาจช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะนี้ได้ ซึ่งได้แก่
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่รวมถึงการอยู่ใกล้ชิดกับคนที่สูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงแสงแดดจ้า และใส่แว่นกันแดดที่สามารถกรองรังสียูวีหากต้องเผชิญกับภาวะที่มีแสงแดดจัด
- รับประทานอาหารให้สมดุลทั้ง 5 หมู่ รวมถึงผักใบเขียว
- ตรวจสุขภาพกายและสุขภาพตาอย่างสม่ำเสมอ
ในบทต่อไปจะกล่าวถึงรายละเอียดของโรค wet AMD ซึ่งเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดที่ทำให้การมองเห็นเสียได้อย่างรวดเร็ว