โดย แพทย์หญิง อรทัย สุวรรณพิมลกุล จักษุแพทย์
กระจกตาหรือตาดำเป็นส่วนที่อยู่ด้านหน้าสุดของลูกตา มีลักษณะเป็นวงกลมใส ความใสของกระจกตา รวมถึงความโค้งที่พอเหมาะ และความเรียบของผิวกระจกตามีความสำคัญต่อการมองเห็นโดยแสงจะสามารถผ่านเข้าไปในดวงตา เพื่อโฟกัสรวมให้เกิดภาพชัดเจนได้
โรคใดก็ตามที่เกิดขึ้นกับกระจกตา และมีผลทำให้กระจกตาผิดรูปร่างหรือมีความขุ่นขึ้น ล้วนมีผลทำให้การมองเห็นเลือนรางลงได้
ภาพตาปรกติ ซึ่งกระจกตาต้องมีความใสเพื่อให้แสงผ่านได้
ความสำคัญของกระจกตาติดเชื้อ
โรคกระจกตาติดเชื้อเป็นสาเหตุสำคัญของการสูญเสียการมองเห็น เนื่องจากเมื่อมีการติดเชื้อขึ้น การอักเสบจะนำไปสู่การเกิดแผลเป็นของกระจกตาเมื่อหายจากโรค ซึ่งแผลเป็นที่เกิดขึ้นทำให้กระจกตาผิดรูปร่าง และขุ่นขาว ทำให้แสงผ่านเข้าไปในลูกตาได้ไม่ดี การมองเห็นจึงลดลง ในประเทศไทยพบว่า 4.5% ของภาวะตาบอดทั้งหมดมีสาเหตุจากโรคของกระจกตา ซึ่งเกิดตามหลังกระจกตาติดเชื้อนั่นเอง
ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่กระจกตา
ธรรมชาติได้สร้างให้มีการคุ้มกันกระจกตา โดยผิวหน้าสุดของกระจกตา และน้ำตานั้นทำหน้าที่เหมือนเกราะที่แข็งแกร่งคอยป้องกันไม่ให้เชื้อโรคผ่านเข้าไปทำอันตรายต่อกระจกตาชั้นในได้ น้ำตาก็จะมีเอ็นไซม์ และสารภูมิคุ้มกันคอยดักจับ ทำลายเชื้อโรค รวมถึงการมีปฏิกิริยาด้วยการกระพริบตาเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมจะเข้าตา หรือมีน้ำตาไหลออกมากมาล้างตาเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าในตา ผิวกระจกตาหน้าสุดจะมีการเรียงตัวของเซลล์อย่างแน่นหนาจนแทบไม่มีที่ให้เชื้อโรคเกาะ เหล่านี้เป็นเกราะป้องกันตามธรรมชาติ
ต่อเมื่อมีภาวะต่าง ๆ ที่ทำให้เกราะป้องกันเหล่านี้เสียไป ก็จะทำให้เกิดโรคที่กระจกตาได้ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ ได้แก่
- การใส่คอนแทคเลนส์
- กระจกตาถลอกขูดขีดจากอุบัติเหตุต่าง ๆ รวมถึงสิ่งแปลกปลอมเข้าตา เช่น เศษหิน ดิน ใบไม้ พืช
- การใช้ยาหยอดตาที่ปนเปื้อนหรือมีน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา
- โรคที่เกิดกับดวงตา เช่น โรคตาแห้ง เปลือกตาปิดไม่สนิท การถูกสารเคมี การขาดวิตามินเอ โรค Steven - Johnson เป็นต้น
- โรคทางกายที่ทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- การผ่าตัดกระจกตา
- การติดเชื้อจากเนื้อเยื่อใกล้เคียง
สำหรับเชื้อที่ทำให้เกิดโรคพบบ่อยสุด ได้แก่ เชื้อแบคทีเรีย รองลงมา คือ เชื้อรา และไวรัสตามลำดับ
อาการ และอาการแสดง
เมื่อเกิดการติดเชื้อ ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการเคืองตา ตาแดง น้ำตาไหล ลืมตาไม่ขึ้น มีขี้ตามาก ตามัว เริ่มสังเกตเห็นจุดขาวขุ่นเกิดตรงตาดำ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีจุดขาวจากการติดเชื้อจะลุกลามขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ อาจเห็นเป็นหนองสีขาวในช่องหน้าลูกตาได้ หากโรคเป็นมากขึ้นจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา ได้แก่ กระจกตาทะลุ ต้อหิน ต้อกระจก รวมถึงการติดเชื้อลุกลามเข้าสู่ลูกตาด้านหลังได้ ทำให้เกิดตาบอดถาวร
ภาพแสดงลักษณะต่าง ๆ ของกระจกตาติดเชื้อ ซึ่งมีความรุนแรงได้ตั้งแต่น้อยถึงมาก
การรักษา
การรักษาที่ถูกต้องควรได้รับการรักษาด้วยจักษุแพทย์ ซึ่งจักษุแพทย์จะวินิจฉัยโรคจากอาการ และการตรวจลักษณะของแผลติดเชื้อ นอกจากนั้นแพทย์อาจขูดผิวของแผลเพื่อทำการย้อมสี และเพาะเชื้อเพื่อบอกว่าติดเชื้อชนิดไหน
การรักษาควรเริ่มให้เร็วที่สุด โดยการใช้ยาปฏิชีวนะหยอดตาให้ผู้ป่วย โดยหยอดถี่ทุก 1 - 2 ชั่วโมง ร่วมกับการให้ยาลดปวด ในรายที่เป็นมากหรือมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น แพทย์อาจพิจารณาให้นอนโรงพยาบาลเพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ในรายที่การติดเชื้อลุกลามมากจนกระจกตาทะลุ อาจจำเป็นต้องผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาเพื่อรักษาดวงตา
เมื่อสามารถควบคุมการติดเชื้อแล้ว การอักเสบบนกระจกตาจะน้อยลง อย่างไรก็ตามกระจกตาจะกลายเป็นแผลเป็นสีขาวขุ่น และมีรูปร่างผิดปรกติไป ซึ่งมีผลทำให้การมองเห็นลดลง การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาเพื่อเอากระจกตาส่วนที่ผิดปรกติออกไป และแทนที่ด้วยกระจกตาใสจากผู้บริจาคแพทย์จะพิจารณาเป็นราย ๆ ไป ซึ่งในเมืองไทยเนื่องจากภาวการณ์ขาดแคลนกระจกตาจากผู้บริจาค ทำให้อาจต้องเข้าคิวรอนานถึง 3 - 6 ปี