การเปลี่ยนแปลงของดวงตากับการตั้งครรภ์ : 1

โดย แพทย์หญิง อรทัย สุวรรณพิมลกุล จักษุแพทย์

เมื่อมีการตั้งครรภ์ ผลจากการตั้งครรภ์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างต่อดวงตาได้ รวมถึงการใช้ยาหยอดตาในคนตั้งครรภ์เป็นสิ่งที่ควรระมัดระวังยิ่ง บทความนี้จะกล่าวถึงภาวะของดวงตาที่เปลี่ยนไปโดยแบ่งเป็น

  1. การเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ
  2. โรคที่พบมากขึ้นจากการตั้งครรภ์ซึ่งมีผลต่อดวงตา
  3. การเปลี่ยนแปลงของโรคที่มีอยู่เดิมระหว่างตั้งครรภ์

การเปลี่ยนแปลงที่พบตามธรรมชาติจากการตั้งครรภ์

กระจกตา

  1. ความไวในการรับความรู้สึกต่อการสัมผัสของกระจกตาอาจลดลง
  2. ความหนาของกระจกตาอาจเพิ่มขึ้นหรือความโค้งของกระจกตาอาจเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลให้สายตาอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ระหว่างการตั้งครรภ์ การเปลี่ยนแปลงนี้อาจกลับสู่ภาวะปรกติหลังคลอดแล้ว ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้เปลี่ยนแว่นหรือคอนแทคเลนส์ระหว่างการตั้งครรภ์ ควรรอหลังคลอดหลายสัปดาห์แล้วจึงค่อยวัดสายตาใหม่

ความดันลูกตา

พบว่าความดันลูกตาอาจลดลงในช่วงไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์ และจะกลับเป็นค่าเดิมก่อนตั้งครรภ์ เมื่อระยะหลังคลอดประมาณ 2 เดือน

โรคที่พบมากขึ้นจากการตั้งครรภ์ซึ่งมีผลต่อดวงตา

ความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์

ความดันโลหิตสูงที่เกิดจากการตั้งครรภ์มีตั้งแต่อาการไม่รุนแรงจนถึงภาวะที่รุนแรงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของไต โดยพบโปรตีนรั่วออกมาในปัสสาวะปวดศีรษะ อาเจียนหรือมีผลต่อการทำงานของตับ เกร็ดเลือด สมองจนถึงชักได้ เรียกว่า “ pre - eclampsia และ eclampsia ” ส่วนใหญ่อาการมักเกิดในช่วงอายุครรภ์หลัง 20 สัปดาห์แล้ว โดยปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนี้ ได้แก่ ตั้งครรภ์เมื่ออายุน้อยกว่า 18 หรือมากกว่า 35 ปี , ครรภ์แฝด , มีโรคประจำตัวอยู่เดิม เช่น เบาหวาน ความดัน โรคเกี่ยวกับเส้นเลือด

การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับดวงตาที่พบบ่อยจากการที่ความดันโลหิตสูง คือ ตามัวพบได้ตั้งแต่มัวน้อยจนถึงไม่เห็นแม้แต่แสงไฟ , เห็นแสงไฟแปล๊บหรือเห็นภาพซ้อน ซึ่งการตรวจทางจักษุจะพบว่าเส้นเลือดที่จอประสาทตาบางส่วนอาจมีการหดตัว จอประสาทตาบวมหรือหลุดลอก หรือเส้นประสาทตาขาดเลือด รวมถึงสมองส่วนที่ทำการรับ และแปลผลการมองเห็นมีการบวมหรือขาดเลือดชั่วขณะ

การเปลี่ยนแปลงของดวงตากับการตั้งครรภ์ การเปลี่ยนแปลงของดวงตากับการตั้งครรภ์
ภาพซ้ายแสดงจอประสาทตาลอก ( มีน้ำเซาะใต้จอประสาทตา ) ภาพขวาแสงจอประสาทตาที่หายจากการหลุดลอก คือ จอประสาทตาติดราบกับผนังลูกตา หลังการคลอด 2 สัปดาห์

โดยทั่วไปการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมักกลับเป็นปรกติหลังการคลอด อย่างไรก็ตามผู้ตั้งครรภ์บางรายอาจมีการเสื่อมของเม็ดสีในจอประสาทตาหรือเส้นประสาทตาบางส่วนเสื่อมได้ ซึ่งอาจมีผลให้ยังมีตามัวเล็กน้อยหลงเหลืออยู่หลังการคลอดแล้ว

การรักษา

เนื่องจากภาวะความดันโลหิตที่สูงมีผลต่ออวัยวะทั่วร่างกายรวมถึงเด็กในครรภ์ โดยทั่วไปสูติแพทย์จะเป็นผู้ให้การดูแลการควบคุมความดันโลหิต การเปลี่ยนแปลงของเกลือแร่ และการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะต่าง ๆ เพื่อมิให้ภาวะที่เป็นรุนแรงขึ้น สำหรับอาการทางจักษุมักจะดีขึ้นหลังการคลอด ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุด คือ การติดตามการตรวจระหว่างการตั้งครรภ์เพื่อป้องกันหรือให้การรักษาตั้งแต่อาการเป็นน้อยจากภาวะความดันโลหิตสูงที่อาจเกิดขึ้น

จุดรับภาพในจอประสาทตาบวม ( central serous retinopathy )

ภาวะนี้ คือ มีจุดรับภาพตรงกลางของจอประสาทตาบวม เป็นผลให้ตามัว เห็นภาพบิดเบี้ยวหรือเห็นภาพขนาดเล็กกว่าความเป็นจริง โดยทั่วไปโรคนี้มักพบในชายวัยกลางคน อย่างไรก็ตามภาวะนี้พบได้ประปรายในหญิงตั้งครรภ์ โดยพบในการตั้งครรภ์ได้ทุกไตรมาส สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบ แต่คาดว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนหรือระบบการไหลเวียนโลหิตระหว่างตั้งครรภ์

จุดรับภาพที่บวมอาการมักดีขึ้นหรือหายเองในช่วงใกล้คลอดหรือหลังคลอดแล้ว ยกเว้นบางกรณีที่หลังคลอดแล้วยังไม่หาย จักษุแพทย์อาจต้องฉีดสีตรวจพิเศษเพื่อพิจารณาการรักษาด้วยเลเซอร์ โดยทั่วไปแพทย์มักเพียงแค่ติดตามอาการไปจนระยะหลังคลอดเนื่องจากยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าสีที่ใช้ในการฉีดเพื่อตรวจจอประสาทตาปลอดภัยสำหรับเด็กในครรภ์หรือไม่ สำหรับผู้ที่เคยเป็นโรคนี้แล้วในครรภ์ต่อไปอาจมีโอกาสเป็นซ้ำได้

การเปลี่ยนแปลงของดวงตากับการตั้งครรภ์

ภาพแสดงจุดรับภาพบวมบริเวณตรงกลางของจอประสาทตา

โรคเส้นเลือดตีบระหว่างการตั้งครรภ์

ระหว่างการตั้งครรภ์เส้นเลือดในจอประสาทตาอาจมีการเปลี่ยนแปลงร่วมกับภาวะการแข็งตัวของเลือดที่เปลี่ยนไปทำให้เกิดโรคในจอประสาทตาได้ ได้แก่

Purtscher - like retinopathy : มักพบในระยะหลัง ๆ ของการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในผู้ที่เป็น pre - eclampsia จะมีอาการตามัวค่อนข้างมากหลังคลอดใหม่ ๆ แต่เป็นแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ

การเปลี่ยนแปลงของดวงตากับการตั้งครรภ์

ภาพแสดงบริเวณที่จอประสาทตาขาดเลือดเห็นเป็นหย่อม ๆ สีขาว เรียกภาวะดังภาพว่า “ purtscher - like retinopathy ”

Thrombotic thrombocytopenic purpura ( TTP ) เป็นภาวะที่มีลิ่มเลือดอุดตันตามเส้นเลือดต่าง ๆ ในร่างกาย ทำให้เกิดภาวะซีด เกร็ดเลือดต่ำ ไข้ สมองเกิดการเปลี่ยนแปลง สำหรับดวงตาอาจพบภาวะเส้นเลือดในจอประสาทตาอุดตันหรือมีเลือดออกในจอประสาทตาเส้นเลือดผิดปรกติรอบขั้วประสาทตา

การเปลี่ยนแปลงของดวงตากับการตั้งครรภ์

ภาพแสดงบริเวณที่จอประสาทตามีจุดเลือกออกเป็นหย่อม ๆ จากภาวะ TTP

Amniotic fluid embolism เป็นภาวะที่ฟองน้ำคร่ำไปอุดตันตามเส้นเลือดต่าง ๆ เป็นภาวะที่ทำให้อัตราตายสูงมากถึง 80 % ส่วนใหญ่มักพบช่วงระหว่างกระบวนการคลอดหรือทันทีหลังคลอด ฟองน้ำคร่ำที่อุดตันเส้นเลือดทำให้เกิดหัวใจล้มเหลว และเส้นเลือดในตาอุดตันตามัวรุนแรงได้

จากที่กล่าวมาข้างต้นเป็นโรคหรือภาวะที่พบมากขึ้นในการตั้งครรภ์ซึ่งมีผลต่อการมองเห็น โดยทั่วไปมักไม่มีการรักษาโดยตรงทางจักษุสำหรับโรคเหล่านี้ เนื่องจากหลังการคลอดบางโรคจะหายได้ แต่ในบางโรคต้องอาศัยการรักษาโรคทางกายซึ่งอาจบรรเทาอาการทางตาที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้นผู้ที่มีความผิดปรกติทางร่างกายควรได้พบสูติแพทย์โดยเร็วหรือหากมีอาการผิดปรกติด้านการมองเห็นควรได้พบจักษุแพทย์ ซึ่งการตรวจทางจักษุอาจช่วยในการวินิจฉัยโรคทางกายได้ และหญิงตั้งครรภ์ทุกคนควรได้รับการฝากครรภ์ และติดตามการตั้งครรภ์อย่างสม่ำเสมอ

คำยืนยันจากผู้ใช้

คุณหน่อง อรุโณชา ภาณุพันธุ์

คุณหน่อง อรุโณชา ภาณุพันธุ์

ผู้สร้างภาพยนตร์ บุพเพสันนิวาส ๒ และ ละครพรหมลิขิต ★ ★ ★ ★ ★

แว่นที่ดี สำคัญมากกับการดำเนินชีวิต ดีใจที่เจอแว่นที่ถูกใจ ก็เหมือนกับบุพเพสันนิวาส ทำให้เราทำงานได้อย่างมีความสุขค่ะ

อ่านต่อ
นายแพทย์ วิชิต ศิริทัตธำรง

นายแพทย์ วิชิต ศิริทัตธำรง

หัวหน้าหน่วยจุลศัลยกรรมโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ ★ ★ ★ ★ ★

ใช้แว่นตาโปรเกรสซีฟอัจฉริยะไอซอพติกแล้ว ทำให้เหนื่อยน้อยลง มีพลังในการทำงานมากขึ้น และมีความสุขเพิ่มขึ้นในการใช้ชีวิต ครับ

อ่านต่อ

รวมคำยืนยันจากผู้ใช้แว่นตาโปรเกรสซีฟอัจฉริยะ 3 มิติ เฉพาะบุคคล อย่างยิ่งยวด สะท้านโลกา

อ่านต่อ

เลนส์แว่นตาไอซอพติก มีจำหน่ายที่
ศูนย์แว่นโปรเกรสซีฟเฉพาะบุคคล ไอซอพติก เท่านั้น
โปรดระวังการแอบอ้าง

go to top
คุณภาพการมองเห็นมีผลกับ คุณภาพชีวิตอย่างไร ?