โดย แพทย์หญิง อรทัย สุวรรณพิมลกุล จักษุแพทย์
หนังตาหย่อน
ภาวะหนังตาหย่อนเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ เกิดจากการที่หนังตาขาดความยืดหยุ่น และมีการเสื่อมของเนื้อเยื่อบริเวณหนังตา สามารถพบได้ทั้งหนังตาบนและล่าง โดยมักพบที่หนังตาบนมากกว่า นอกจากเป็นจากอายุที่เพิ่มขึ้น โรคทางกายบางอย่างอาจทำให้เกิดภาวะหนังตาหย่อนได้ เช่น Ehlers - Danlos syndrome , amyloidosis , hereditary angioneurotic edema , xanthelasma เป็นต้นหนังตาหย่อนอาจทำให้เกิดปัญหาด้านความสวยงาม และการมองเห็น โดยอาจบดบังลานสายตาในการมองเห็นด้านบน อาจทำให้รู้สึกหนักตาหรือรู้สึกว่าหนังตาล่างบวมหรือมีรอยย่น
อาการ และอาการแสดง
- ผู้ป่วยมักมีอาการเกี่ยวกับการมองเห็น โดยหนังตาที่หย่อนมักทำให้บดบังลานสายตาด้านบนหรือมักจะบดบังเวลาอ่านหนังสือ หรือทำให้ลานสายตาในการมองเห็นด้านข้างเวลาขับรถลดลง
- ผู้ที่มีหนังตาหย่อนมาก ๆ ทำให้ต้องพยายามใช้กล้ามเนื้อบริเวณหน้าผากในการยกหนังตา อาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะหรือหัวคิ้วได้
- ผู้ป่วยบางรายอาจมีปัญหาอื่น ๆ จากการที่หนังตาหย่อนมาก ๆ อย่างเช่น มีหนังตาม้วนเข้าใน หรือหนังตาแบะออกด้านนอก ทำให้เกิดการระคายเคืองตา ตาแห้ง หรือน้ำตาไหลร่วมด้วยได้ บางครั้งอาจพบร่วมกับภาวะหนังตาตกได้
ภาพแสดงภาวะหนังตาหย่อน ภาพซ้ายหนังตาหย่อนไม่มาก ภาพขวาพบว่าหนังตาหย่อนมาก และอาจบดบังลานสายตาบางส่วนได้
การรักษา
โดยทั่วไปข้อบ่งชี้ในการรักษาประกอบด้วย
หนังตามีการหย่อนมากจนบดบังการมองเห็น
ปัญหาด้านความสวยงาม
การรักษาภาวะนี้ คือ การผ่าตัดหนังตาที่หย่อนออก วิธีการผ่าตัดคล้ายการผ่าตัดทำตาสองชั้น ซึ่งผู้ที่ได้รับการผ่าตัดหนังตา หลังการผ่าตัดแพทย์มักแนะนำให้ประคบเย็น นอนศีรษะสูงเพื่อลดการบวมของหนังตา ดูแลเรื่องความสะอาดของแผลผ่าตัด หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงหรือมีการเบ่ง หรือการออกกำลังกายหนัก ๆ ในช่วง 2 สัปดาห์แรก
ภาพเปรียบเทียบก่อนการผ่าตัด ( ซ้าย ) และหลังการผ่าตัด ( ขวา )
หนังตาม้วนเข้าใน
ภาวะนี้เกิดจากหนังตามีความผิดปรกติทำให้ขอบเปลือกตามีการม้วนเข้าสัมผัสกับลูกตา หนังตาม้วนเข้าในพบได้ในหลายช่วงอายุขึ้นกับว่าสาเหตุใดทำให้เกิดภาวะนี้
ปัญหาที่สำคัญของภาวะนี้ คือ ทำให้เกิดการระคายเคือง และเมื่อมีการถูไถของขอบเปลือกตา ขนตากับผิวกระจกตาดำ จะทำให้เกิดแผลถลอกที่กระจกตาดำ กรณีที่รุนแรงทำให้เกิดเป็นแผลเป็นที่กระจกตาดำได้
สาเหตุของหนังตาม้วนเข้าใน
- เป็นแต่กำเนิด มักพบได้น้อย เกิดจากเอ็นกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับการทำงานของหนังตาไม่มีการพัฒนาหรือมีการพัฒนาที่ไม่สมบูรณ์
- หนังตาม้วนเข้าในจากการที่มีการระคายเคือง การอักเสบหรือการติดเชื้อบ่อย ๆ ที่เยื่อบุหนังตาด้านใน ทำให้กล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับการปิดตามีการหดเกร็งผิดปรกติจากการอักเสบบ่อย ๆ เกิดการม้วนเข้าใน
- สูงอายุ เกิดจากเมื่ออายุมากขึ้นเอ็นกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับการเปิดปิดของหนังตามีการหย่อนยาน
ภาพแสดงหนังตาด้านล่างที่ม้วนเข้าใน ภาพซ้ายเป็นแต่กำเนิด ภาพขวาเกิดจากภาวะสูงอายุ แม้ว่าลักษณะภายนอกจะแสดงอาการเหมือนกัน แต่สาเหตุของพยาธิสภาพต่างกันดังกล่าวข้างต้น
การมีแผลเป็นที่เยื่อบุหนังตาด้านใน ซึ่งอาจเกิดจากอุบัติเหตุ การโดนสารเคมี โรคเกี่ยวกับเยื่อบุตา เช่น Stevens - Johnson syndrome , ocular cicatricial pemphigoid ( OCP )
ภาพแสดงหนังตาม้วนเข้าในที่เปลือกตาด้านบน เมื่อพลิกเปลือกตาจะเห็นเป็นแผลเป็นสีขาวที่เยื่อบุหนังตาด้านใน
การรักษา
การรักษาด้วยยา : กรณีที่เกิดจากการติดเชื้อหรือการอักเสบของเยื่อบุตาบ่อย ๆ แพทย์จะพิจารณาให้ยาเพื่อรักษาสาเหตุซึ่งอาจทำให้ภาวะหนังตาม้วนในดีขึ้น สำหรับน้ำตาเทียมหรือเจลหยอดตาอาจช่วยลดการระคายเคืองที่เกิดจากการสัมผัสระหว่างขนตากับตาดำได้
ผู้ที่เป็นโรคที่เกี่ยวกับเยื่อบุตา เช่น Stevens - Johnson syndrome , ocular cicatricial pemphigoid อาจต้องใช้ยากินบางชนิดขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์
การรักษาด้วยการผ่าตัด : มักใช้ในกรณีที่เป็นแต่กำเนิดหรือเกิดจากการสูงอายุหรือเกิดจากแผลเป็นที่เยื่อบุตาด้านในจากอุบัติเหตุ การโดนสารเคมี ซึ่งวิธีการผ่าตัดก็ขึ้นกับสาเหตุที่เป็น