โดย แพทย์หญิง อรทัย สุวรรณพิมลกุล จักษุแพทย์
ปัญหาตาแดงในเด็กแรกเกิดส่วนใหญ่มัก หมายถึง อาการตาแดงที่พบในช่วง 1 เดือนแรกคลอด ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการติดเชื้อหรือไม่ก็ได้ สำหรับสาเหตุที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อมักเป็นจากการระคายเคืองจากสารที่เรียกว่า silver nitrate ซึ่งในเด็กแรกเกิดทุกรายต้องได้รับการเช็ดตาด้วยสารตัวนี้เพื่อป้องกันการติดเชื้อในตา อย่างไรก็ตามภาวะนี้จะหายเองได้ สิ่งที่ต้องระวังมากกว่าเมื่อพบตาแดงในเด็กแรกคลอด คือ การติดเชื้ออาจเป็นเชื้อแบคทีเรียคลาไมเดีย ( Chlamydia ) หรือไวรัสก็ได้ เด็กแรกคลอดอาจได้รับเชื้อขณะที่ผ่านช่องคลอดของมารดาในกระบวนการคลอด
ในประเทศยุโรปพบตาแดงในเด็กแรกเกิดประมาณ 1 % แต่ในประเทศกำลังพัฒนามักพบได้มากกว่านี้ปัญหาสำคัญของการติดเชื้อในเด็กแรกเกิดนอกจากจะทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นได้ในรายที่เป็นรุนแรง บางครั้งเชื้อโรคอาจแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น ๆ เช่น สมอง , หัวใจ , ข้อ และอาจทำให้เกิดความพิการหรือเสียชีวิตได้ ฉะนั้นการตรวจพบตั้งแต่ระยะแรก และให้การรักษาอย่างรวดเร็วจึงมีความสำคัญมาก อาการตาแดงในเชื้อแต่ละชนิดบางครั้งอาจจะแยกได้ยากแต่ที่พบได้บ่อย ได้แก่
- เชื้อแบคทีเรียหนองใน ( gonococcal conjunvtivitis ) มักพบอาการตาแดงตั้งแต่อายุ 3 - 5 วัน เชื้อชนิดนี้มีความรุนแรงมากทำให้ตาบอดได้ในเวลาอันรวดเร็ว ส่วนใหญ่มักพบทั้งสองตามีขี้ตามาก และขี้ตามีลักษณะเป็นหนองจำนวนมาก อาจมีแผลที่กระจกตาร่วมด้วยหรือแผลลุกลามจนกระจกตาทะลุ มีการติดเชื้อเข้าไปในลูกตา ปัญหาอื่น ๆ ที่พบได้ คือ อาจมีติดเชื้อในข้อต่าง ๆ เยื่อหุ้มสมองในกระแสเลือดร่วมด้วยได้
- เชื้อคลาไมเดีย ( chlamydial conjunctivitis ) มักพบในเด็กอายุ 5 - 14 วัน ทำให้เกิดตาแดง เปลือกตาบวม มีขี้ตาเหนียวแต่ไม่มากนัก ภาวะนี้จะทำให้เกิดแผลเป็นที่เปลือกตาเยื่อบุตา และกระจกตาได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษานอกจากนี้ก็ทำให้เกิดติดเชื้อที่ปอดหูหรือลำคอได้
- เชื้อไวรัสเริม ( herpes simplex conjunctivitis ) อาการมักพบใน 2 สัปดาห์แรกหลังคลอด เชื้อชนิดนี้ทำให้เกิดตาแดงแผลที่กระจกตาอาจเห็นตุ่มน้ำรอบ ๆ เปลือกตาร่วมด้วยซึ่งถ้าไม่รักษาอาจกลายเป็นแผลเป็นฝ้าขาวที่กระจกตาเชื้ออาจลุกลามไปที่สมองทำให้เกิดความพิการหรือเสียชีวิตได้
การติดเชื้อชนิดอื่น ๆ มักจะไม่รุนแรงนักจะไม่นำมากล่าวในที่นี้ เมื่อพบอาการตาแดงแพทย์อาจนำขี้ตาหรืออาจมีการเจาะเลือดเพื่อไปเพาะเชื้อหาสาเหตุ
การรักษา
- ถ้าเป็นการระคายเคืองจากสาร silver nitrate ส่วนใหญ่มักหายเอง
- สำหรับการติดเชื้อในตาแพทย์จะให้การรักษาตามชนิดของเชื้อ ซึ่งประกอบด้วยการให้ยาทั้งยาหยอดรวมถึงการฉีดยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือดในบางราย
- บิดามารดามีส่วนสำคัญในการให้ประวัติการติดเชื้อต่าง ๆ ทางเพศสัมพันธ์ โดยมิควรปิดบังเพื่อการรักษาที่ถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น เนื่องจากเชื้อที่กล่าวมาเป็นเชื้อที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเด็กมักจะได้รับเชื้อผ่านทางช่องคลอดของมารดา
โดยสรุปแล้วอาการตาแดงในเด็กแรกคลอดเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม ควรนำเด็กมาพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เนื่องจากเชื้อบางชนิดทำให้สูญเสียการมองเห็น ได้ในเวลาอันรวดเร็ว และเด็กอาจมีความพิการหรือเสียชีวิตได้ จากการที่เชื้อแพร่กระจากสู่อวัยวะส่วนอื่น ๆ ได้