โดยแพทย์หญิง อรทัย สุวรรณพิมลกุล จักษุแพทย์
ต้อเนื้อ และต้อล้มเป็นส่วนของเยื่อบุตาด้านนอกที่มีการเปลี่ยนแปลงนูนขึ้นที่บริเวณขอบตาดำ ถ้าเยื่อบุตาที่เปลี่ยนแปลงยังอยู่ที่บริเวณขอบตาดำจะเรียกว่า ต้อลม แต่ถ้ามีการลามเข้ามาในส่วนของกระจกตาดำก็จะเรียกว่า ต้อเนื้อ ดังรูป
รูป a) แสดงลักษณะต้อลมซึ่งเกิดที่ขอบตาดำ แต่ยังไม่เข้ามาในตาดำ b) แสดงลักษณะต้อเนื้อซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุตาทางพยาธิเหมือนต้อลม แต่มีการลามเข้าที่กระจกตาดำต้อเนื้อ ในแต่ละคนก็จะมีลักษณะแตกต่างกันไป บางคนเป็นแผ่นบาง ๆ เส้นเลือดไม่มากโตช้า บางคนเป็นลักษณะนูนหนามากมีการแดงอักเสบบ่อย ๆ โตเร็ว ซึ่งลักษณะที่แตกต่างกันก็มีผลต่อการกลับเป็นซ้ำหลังการผ่าตัด
ความชุกของการเกิดต้อลมต้อเนื้อมักพบบ่อยในกลุ่มประเทศที่อยู่ใกล้บริเวณเส้นศูนย์สูตร พบว่าความชุกในการเกิดจะลดลงในประเทศที่ห่างจากเส้นศูนย์สูตร เชื่อว่าอัตราการเกิดสัมพันธ์กับแสงยูวี ต้อเนื้อหรือต้อลมพบน้อยในคนที่อายุน้อยกว่า 20 ปี ผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปี จะมีโอกาสเกิดมากขึ้นแต่มักพบต้อลมต้อเนื้อมากที่สุดในช่วงอายุ 20 - 40 ปี
อาการ
มีได้ตั้งแต่ไม่มีอาการอะไร เพียงแต่เห็นลักษณะเยื่อบุตาที่นูนขึ้นหรืออาการที่มักพบ ได้แก่ การแดง , ระคายเคือง , ตาแห้งหรือบวม ในบางรายอาจพบว่า การมองเห็นลดลงได้ ถ้าต้อเนื้อมีขนาดใหญ่ และลุกลามเข้ามาในกระจกตาดำมากจนทำให้เกิดภาวะสายตาเอียงหรือในบางคนขนาดใหญ่มากจนบดบังรูม่านตาน้อยรายที่จะพบว่าต้อเนื้อมีการลุกลามไปเกาะที่กล้ามเนื้อตาทำให้เกิดภาพซ้อนได้เวลากลอกตา
อาการแสดง
ต้อลมหรือต้อเนื้อมักเกิดที่บริเวณหัวตาหรือหางตาติดกับกระจกตาดำ โดยด้านที่หัวตามักพบบ่อยกว่าหางตา สำหรับลักษณะต้อเนื้อแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ
เป็นแผ่นเนื้อบาง ๆ แบน ๆ ไม่แดง มักจะโตช้าและโอกาสเกิดเป็นซ้ำหลังผ่าตัดมีน้อย
กลุ่มที่สองต้อเนื้อจะมีลักษณะโตค่อนข้างเร็ว นูนหนา อาจมีแดงเป็น ๆ หาย ๆ ซึ่งกลุ่มนี้จะมีโอกาสเกิดซ้ำได้มากหลังการผ่าตัดลอกต้อเนื้อ
สาเหตุของการเกิดต้อเนื้อต้อลม
สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดต้อเนื้อต้อลมยังไม่ทราบชัดเจน แต่พบว่าปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดได้แก่
- การสัมผัสต่อแสงยูวีโดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่อยู่ในเขตร้อน
- อาชีพที่ต้องออกข้างนอกบ่อย ๆ พบลมแดดบ่อย ๆ
- พบว่าในคนที่มีประวัติครอบครัวเป็นมีโอกาสที่จะเกิดต้อเนื้อต้อลมได้มากขึ้น
การรักษา
โดยทั่วไปต้อลมมักไม่ค่อยทำให้มีอาการ และโตช้า บางคนอาจเป็นแค่ต้อลมไปตลอดโดยไม่ได้มีการลุกลามเป็นต้อเนื้อ ดังนั้นต้อลมส่วนใหญ่จึงไม่ต้อง การการรักษาเพียงแค่หลีกเลี่ยงการสัมผัสต่อลมแดดบ่อย ๆ เท่านั้น สำหรับต้อเนื้อหากไม่มีอาการ และต้อเนื้อมีขนาดเล็กก็เพียงแค่หลีกเลี่ยงการสัมผัสลมแดดเช่นกัน
การรักษาด้วยยา
มักใช้ยาในกรณีที่ต้อเนื้อมีการอักเสบแดงบ่อย ๆ หรือทำให้เกิดการระคายเคืองตา ซึ่งยากลุ่มที่มักจะใช้คือกลุ่มยาหยอด antihistamine หรือน้ำตาเทียม
การรักษาด้วยการผ่าตัด
การรักษาด้วยการผ่าตัด คือ การลอกเอาต้อเนื้ออก และอาจใช้เยื่อบุตาบริเวณอื่น ๆ หรือเยื่อหุ้มรกเย็บปิดบริเวณที่ลอกต้อเนื้อออกไปข้อบ่งชี้ของการลอกต้อเนื้ ได้แก่
ต้อเนื้อมีการอักเสบแดงบ่อย ๆ ใช้ยาแล้วไม่ดีขึ้น
ต้อเนื้อมีขนาดใหญ่ทำให้เกิดภาวะสายตาเอียง การมองเห็นลดลง
ต้อเนื้อมีขนาดใหญ่จนเกือบจะปิดหรือบดบังรูม่านตา
เพื่อความสวยงาม ( cosmetic problem )
การผ่าตัดสามารถทำเป็นแบบผู้ป่วยนอกได้ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล หลังการผ่าตัดจักษุแพทย์มักปิดตาไว้ 1 วัน วันรุ่งขึ้นจะนัดผู้ป่วยมาเปิดตา และดูแผลร่วมกับมียาหยอดให้หยอด โดยทั่วไปแพทย์อาจนัดตัดไหมที่ประมาณ 1 สัปดาห์ แต่จะนัดติดตามดูแผลต่อที่ประมาณ 1 ถึง 3 เดือน
(a) ต้อเนื้อ
(b) การผ่าตัดก็จะตัดต้อเนื้อดังเส้นประในรูป
(c) บริเวณตาขาวที่ลอกต้อเนื้อออกไปแล้ว
(d) ลอกเยื่อบุตาด้านบนเพื่อเย็บปิดบริเวณที่ลอกต้อเนื้อออกไป
(e) เยื่อบุตาที่ลอกจากด้านบนของกระจกตาดำจะนำมาเย็บปิดตาขาวบริเวณที่ลอกต้อเนื้อออกไป ส่วนของตาดำจะไม่มีเยื่อบุตามาปิดซึ่งจะหายได้เองในเวลา 2 - 3 วัน
ภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดต้อเนื้อ
โดยทั่วไปพบได้น้อยแต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ได้แก่
- ติดเชื้อที่บริเวณผ่าตัด
- เยื่อบุตาหรือเยื่อหุ้มรกที่นำมาเย็บปิดมีการหลุดจากตำแหน่งที่เย็บไว้
- เห็นภาพซ้อน เกิดจากพังผืดในกระบวนการหายของแผลมีการดึงรั้งกล้ามเนื้อตา
- การกลับเป็นซ้ำของต้อเนื้อพบได้บ่อย โดยเฉพาะถ้าต้อเนื้อก่อนผ่าตัดมีลักษณะนูนหนาแดงบ่อย ๆ ดังกล่าวข้างต้น ส่วนใหญ่แล้วโอกาสเกิดซ้ำจะอยู่ที่ประมาณ 5 - 15 % ถ้ามีการเกิดเป็นซ้ำการผ่าตัดครั้งต่อไป อาจมีการใช้สารบางอย่างในการผ่าตัดเพื่อยับยังเซลล์หรือพังผืดที่ทำให้ต้อเนื้อเป็นซ้ำทั้งนี้ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์