โดย แพทย์หญิง ณัฐธิดา นิ่มวรพันธุ์ ( จักษุแพทย์ที่ปรึกษาประจำศูนย์แว่นโปรเกรสซีฟเฉพาะบุคคล ไอซอพติก )
การใส่เลนส์กดตา (Orthokeratology หรือ Ortho-k) คือ การแก้ไขสายตาที่ผิดปกติแบบไม่ถาวร ด้วยการใส่คอนแทคเลนส์แบบกึ่งแข็งที่ออกแบบมาโดยเฉพาะที่เรียกว่า โอเคเลนส์ (Ortho-k lens, OK lens) ในขณะที่นอนหลับตอนกลางคืน ทำให้กระจกตาของผู้ใส่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปชั่วคราว จึงสามารถมองเห็นได้ดีขึ้นในเช้าวันถัดไป
หลักการทำงานของโอเคเลนส์
กระจกตา (Cornea) เป็นส่วนที่ใส มีรูปร่างคล้ายโดม อยู่ส่วนหน้าสุดของตา มีหน้าที่รับและหักเหแสงให้ตกลงบนจอประสาทตา (Retina) ดังนั้นหากกระจกตามีการเปลี่ยนรูปร่างจึงส่งผลทำให้การหักเหของแสงเปลี่ยนไปเช่นกัน ในคนที่มีสายตาสั้นแสงจะหักเหผ่านกระจกตาและตกอยู่หน้าจอประสาทตาทำให้มองไกลไม่ชัด เมื่อใส่โอเคเลนส์ซึ่งมีการออกแบบมาเพื่อกดทำให้กระจกตาส่วนกลางแบนลง แสงจึงหักเหเปลี่ยนไปตกลงบนจอประสาทตาพอดี การมองไกลจึงชัดเจนขึ้น
โอเคเลนส์จะเป็นคอนแทคเลนส์ชนิดกึ่งแข็งที่ออกซิเจนผ่านได้ดี (Rigid gas permeable lens, RGP lens) เริ่มแรกจะมีการถ่ายภาพดูแผนที่ความโค้งนูนของกระจกตาด้วยเครื่อง corneal topographer ก่อนและทำการเลือกโอเคเลนส์ที่เหมาะกับแต่ละบุคคล หลังจากนั้นให้ใส่โอเคเลนส์ขณะหลับ เฉลี่ยที่ 6-8 ชั่วโมงต่อวันและถอดออกหลังตื่นนอน หลังถอดโอเคเลนส์ออก กระจกตาจะยังคงรูปร่างที่เปลี่ยนไปตามโอเคเลนส์อยู่อีกระยะหนึ่ง การมองเห็นจึงดีขึ้นโดยที่ไม่ต้องใส่แว่นหรือคอนแทคเลนส์ และหากหยุดใส่โอเคเลนส์ในเวลากลางคืน กระจกตาก็จะกลับสู่รูปร่างเดิม สายตาก็จะกลับมาสั้นเหมือนเดิม