โดย แพทย์หญิง อรทัย สุวรรณพิมลกุล จักษุแพทย์
ตาขี้เกียจ
ฉบับที่แล้วได้กล่าวถึงว่าตาขี้เกียจเป็นอย่างไรและมีสาเหตุจากอะไรบ้าง ก็จะขอสรุปอย่างสั้น ๆ คือ เป็นภาวะที่ความสามารถในการมองเห็นลดลงโดยตรวจไม่พบโรคทางตาใด ๆ แม้ใส่แว่นตาแก้ไขแล้วก็ไม่ดีขึ้น แต่หากเราทราบสาเหตุของการเกิดตั้งแต่ระยะแรก และได้รับการแก้ไขในช่วงเวลาที่เหมาะสมจะช่วยให้หลีกเลี่ยงภาวะนี้ได้
วิธีสังเกตสภาพสายตาเด็ก
ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเด็กควรจะสังเกตหรือตรวจสภาพสายตาเด็กตั้งแต่อายุ 3 เดือนขึ้นไป ดังนี้
- โดยทั่วไปเด็กอายุ 3 เดือนควรจะจ้องภาพและเคลื่อนไหวตามวัตถุได้
- เด็กอายุน้อยกว่า 3 ขวบครึ่ง สามารถตรวจโดยการใช้ไฟฉายส่องหน้าเด็กในระยะ 1 ฟุต โดยปกติแสงไฟจะตกกระทบกระจกตาเป็นแสงสะท้อนทั้งสองตาบริเวณตรงกลาง ถ้าข้างใดข้างหนึ่งตกไม่ตรงกลาง แสดงว่าเด็กมีภาวะตาเขควรพาไปพบแพทย์ แต่ถ้าตกตรงกลางแล้วลองปิดตาทีละข้างให้เด็กมองตามไฟ ถ้ายังคงตกตรงกลางตลอดถือว่าปกติ แต่ถ้าปิดตาแล้วเด็กพยายามมองลอดออกมาหรือไม่ยอมให้ตรวจ ให้สงสัยว่าตาข้างที่ปิดเด็กอาจจะมองไม่ชัด ควรจะได้รับการตรวจจากแพทย์เช่นกัน
- สำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 3 ขวบครึ่งขึ้นไป มักจะยอมอ่านแผ่นวัดสายตาแล้ว ซึ่งอาจจะเป็นรูปภาพ ตัวอักษรหรือตัวเลขโดยทั่วไปจะมีในโรงเรียนหรือโรงพยาบาล
- พัฒนาการด้านการมองเห็นจะเพิ่มขึ้นตามอายุโดยการที่สมองจะเริ่มแปรสภาพการมองเห็นได้นั้น ภาพที่ได้จะต้องเป็นภาพที่คมชัดตกที่จุดรับภาพบนจอประสาทตา ก่อนที่จะส่งต่อไปยังเซลล์สมองที่ทำหน้าที่ในส่วนของการมองเห็น พัฒนาการในส่วนนี้จะมีการพัฒนามากในช่วง 3 ปีแรก ถ้าปล่อยให้มีภาพที่ไม่คมชัดตกลงบนจอตาโดยไม่ได้แก้ไข เมื่อสิ้นสุดระยะของการพัฒนาเซลล์สมองไปแล้ว การแก้ไขให้เห็นได้ชัดเจนขึ้นย่อมเป็นไปได้ยาก ซึ่งในสัตว์ทดลองพบว่า สัตว์ที่ถูกปิดตาไว้โดยไม่มีการกระตุ้นให้สมองรับรู้การมองเห็นในช่วงแรกมีการลดลงของจำนวนและขนาดของเซลล์ในสมองส่วนที่ใช้แปลผลการมองเห็นภาพอย่างถาวร
การวินิจฉัย
การวินิจฉัยภาวะตาขี้เกียจนี้จำเป็นต้องตรวจละเอียดโดยจักษุแพทย์ ผู้ปกครองควรเห็นความสำคัญและใส่ใจในการรักษาเพื่อผลการมองเห็นของเด็กที่ดี
การรักษา
- แก้ไขที่สาเหตุโดยทำให้ภาพตกที่จุดรับภาพของตาข้างที่มีสายตาขี้เกียจเป็นภาพที่คมชัด เช่น ใส่แว่นตาที่ช่วยแก้ไขอาการสายตาผิดปกติ ( สายตาสั้น ยาวหรือเอียง ) หรือการผ่าตัดรักษาต้อกระจกแต่กำเนิด
- กระตุ้นตาข้างที่มีสายตาขี้เกียจให้ทำงานดีขึ้นด้วยการปิดตาข้างที่ดี ( patching ) โดยเริ่มปิดตั้งแต่อายุ 6 เดือน ถึง 9 ปี ซึ่งจักษุแพทย์จะเป็นผู้แนะนำระยะเวลาในการปิดตาของผู้ป่วยแต่ละราย ผู้ปกครองจำเป็นต้องให้กำลังใจสนับสนุน คอยส่งเสริมให้เด็กใส่แว่นตาหรือปิดตาเพื่อกระตุ้นประสาท การมองเห็นในตาขี้เกียจให้พัฒนามากขึ้น ความร่วมมือของเด็กขึ้นอยู่กับแรงผลักดันในครอบครัวเป็นสำคัญ การรักษาสายตาขี้เกียจถึงจะได้ผล
- หากเด็กมีภาวะตาเขร่วมกับตาขี้เกียจ การแก้ไขลักษณะนี้จักษุแพทย์จะปิดตาอาจปิดข้างเดียวหรือปิดตาเด็กทีละข้างสลับกันขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ เพราะลูกตาคนเรายิ่งใช้มองอะไรมากเท่าไร ประสาทการรับภาพจะทำงานดีเป็นปกติ
- ผู้ปกครองอาจต้องลองปิดตาตุ๊กตาให้ลูกดูเป็นตัวอย่างก่อน เมื่ออยู่ในโรงเรียนต้องพยายามให้กำลังใจเด็กและต้องระวังการถูกเพื่อนล้อเลียน การรักษาโดยการปิดตาอาจใช้เวลาเป็นเดือนหรืออาจเป็นปี
- ปัญหาที่อาจเกิดจากการปิดตาอาจพบผื่นแพ้ที่ผิวหนังจากการปิดตา แก้ไขได้โดยปิดตาเวลากลางวัน เปลี่ยนขนาดและรูปร่างของผ้าปิดตา หากเด็กไม่ต้องการปิดตาเวลาอยู่ที่โรงเรียนให้เลี่ยงปิดเวลาอื่นแทน
โดยสรุป โรคนี้ถ้าวินิจฉัยถูกและให้การรักษาได้ทันท่วงทีก็มีโอกาสที่เด็กจะมองเห็นได้เป็นปรกติ ซึ่งมักต้องอาศัยความร่วมมือจากคุณพ่อคุณแม่ แต่ถ้ารักษาช้าหรือพ่อแม่ให้ความร่วมมือน้อย เช่น ปิดตาบ้างไม่ปิดบ้างก็อาจได้ผลน้อยหรือไม่ได้ผลเลย อย่างไรก็ตามบางกรณีที่โรคที่เป็นมีความรุนแรงมาก แม้ให้การรักษาที่สาเหตุก็อาจได้ผลน้อย เช่น ต้อกระจกแต่กำเนิด โรคติดเชื้อในครรภ์ อาจได้ผลไม่เต็มร้อยแม้จะรักษาเร็วก็ตาม