โดย แพทย์หญิง อรทัย สุวรรณพิมลกุล จักษุแพทย์
ฉบับที่แล้วได้กล่าวถึงภูมิแพ้เยื่อบุตาบางส่วน บทความนี้จะกล่าวถึงภูมิแพ้เยื่อบุตาอีกชนิดหนึ่งที่พบได้ไม่น้อยทีเดียวโดยเฉพาะในเด็ก คือ vernal keratoconjunctivitis
ภาวะนี้เป็นภูมิแพ้ชนิดที่ทำให้เกิดอาการอักเสบเรื้องรังของเยื่อบุตา และยังมีความผิดปรกติที่กระจกตาดำร่วมด้วยได้ ส่วนใหญ่อาการแพ้จะเป็นในตาทั้ง 2 ข้าง มักพบในช่วงอายุ 5 - 20 ปี โดยพบมากที่สุดในช่วงอายุ 11 - 13 ปี พบในเด็กผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ โดยทั่วไปผู้ป่วยมักมีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัวร่วมด้วย
ภูมิแพ้ชนิด vernal มักทำให้เกิดอาการในช่วงฤดูใบไม้ผลิหรือฤดูร้อน แต่ในประเทศที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร เช่น ประเทศไทยอาการมักเกิดได้ตลอดทั้งปี
อาการที่สำคัญ : คันตามาก สู้แสงไม่ได้ บีบตา น้ำตาไหล ตาฉ่ำ ๆ ตามัว และมักมีขี้ตาเหนียวข้นร่วมด้วย ลักษณะที่ตรวจพบขึ้นกับว่าอาการแพ้เกิดที่เยื่อบุตา ขอบตาดำหรือที่กระจกตา
อาการแพ้ที่เยื่อบุตา : พบเยื่อบุตาแดง บวม เมื่อพลิกเปลือกตาบนจะเห็นเยื่อบุตาด้านในบวมลักษณะตะปุ่มตะป่ำเหมือนหินกรวดดังรูป
การรักษา : การรักษาหลักมักเป็นการใช้ยากลุ่มแอนตี้ฮีสตามีน , mast cell stabilizer , steroid ซึ่งขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ สิ่งที่ผู้ป่วยควรปฏิบัติ คือ การหลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้เกิดอาการ และมาติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคเรื้อรังมักมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ อย่างไรก็ตามอาการภูมิแพ้ชนิดนี้มักดีขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น และอาจหายไปได้เมื่ออายุเลย 20 ปีไปแล้ว