โดย แพทย์หญิง อรทัย สุวรรณพิมลกุล จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระจกตา
การเจริญเติบโตของลูกตานั้นพบมากในช่วงที่เป็นทารก และ 2 - 3 ขวบปีแรก ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงด้านสายตา และโรคทางตาอื่น ๆ เกิดขึ้นได้ เราจึงควรรู้ว่าเมื่อไรจะพาลูก ๆ ของเราไปตรวจวัดสายตาเพื่อพัฒนาการมองเห็นให้ดีที่สุด
ขนาดลูกตา
ช่วงขวบปีแรกลูกตาจะมีอัตราการเจริญเติบโตมากที่สุด ความยาวของลูกตาจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งโดยเฉลี่ยแรกคลอดความยาวของลูกตาประมาณ 17 มิลลิเมตร พบว่าช่วงขวบปีแรกลูกตาจะยาวเพิ่มขึ้นถึง 4 มิลลิเมตร ต่อมาช่วงอายุ 2 - 5 ขวบ ลูกตาจะยาวขึ้นเพียง 1 มิลลิเมตร และช่วงสุดท้ายคือ อายุ 5 13 ปี ความยาวก็จะเพิ่มอีกเพียงประมาณ 1 - 2 มิลลิเมตรเท่านั้น ขณะนั้นลูกตาจะมีขนาดเท่าผู้ใหญ่ คือ เฉลี่ย 24 มิลลิเมตร แต่หากการเจริญของลูกตามีการเปลี่ยนแปลง เช่น สั้นหรือยาวมากผิดปรกติก็จะทำให้เกิดปัญหาสายตายาวหรือสายตาสั้นตามมาได้
นอกจากความยาวลูกตาแล้ว ปัจจัยที่มีผลต่อสายตาอีก 2 อย่าง คือ ความโค้งของกระจกตา และเลนส์ตา แรกคลอดกระจกตาจะมีความโค้งมากโดยมีกำลังมากถึง 52 diopters ในช่วง 6 เดือนแรก กระจกตาจะแบนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้กำลังการหักเหแสงลดลงมาที่ 46 diopters และความโค้งจะลดลงมาจนเท่าผู้ใหญ่ที่อายุ 12 ปี ( มีกำลังหักเหแสงที่ 42 diopters ) สำหรับเลนส์ตาก็เป็นอวัยวะสำคัญอีกอย่างซึ่งมีผลต่อการหักเหแสงที่จะเข้าสู่ลูกตา โดยเฉลี่ยความหนาของเลนส์ตาเมื่อแรกคลอดจะเท่ากับ 0.96 มิลลิเมตร และอายุ 6 เดือนจะลดความหนาลงมาเหลือ 0.52 มิลลิเมตร
การเปลี่ยนแปลงของสายตา
ดังกล่าวไว้แล้วว่า การเปลี่ยนแปลงของสายตาขึ้นกับความยาวของลูกตาที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงความโค้งของกระจกตาและเลนส์ตา เด็กทารกโดยทั่วไปจะมีภาวะสายตายาวประมาณ + 1.00 diopters สายตาจะยาวมากขึ้นเล็กน้อยเมื่ออายุประมาณ 2 - 4 ปี คือ จะยาวประมาณ + 2.00 ถึง + 3.00 diopters จากนั้นภาวะสายตายาวจะลดลงเรื่อย ๆ จนกลับมามีสายตาปรกติที่อายุเฉลี่ยประมาณ 16 ปี โดยทั่วไปการเปลี่ยนแปลงของสายตาในแต่ละบุคคลอาจแตกต่างกันไปบ้าง แต่พบว่าหากเด็กมีอาการสายตาสั้นก่อนอายุ 10 ปี จะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดสายตาสั้นมากกว่า - 6.00 diopters เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่
เมื่อเราทราบว่าสายตาจะมีการเปลี่ยนแปลงมากในช่วงวัยเด็ก ดังนั้นจึงควรได้รับการแก้ไขเรื่องสายตาผิดปกติตั้งแต่วัยเด็กซึ่งมีส่วนสำคัญมากต่อการพัฒนาความสามารถในการมองเห็นให้ดีที่สุด เนื่องจากสมองจะต้องได้รับการกระตุ้นจากการมองเห็นที่ดีหรือภาพที่มีความชัดเจนด้วย