โดย แพทย์หญิง ณัฐธิดา นิ่มวรพันธุ์ ( จักษุแพทย์ที่ปรึกษาประจำศูนย์แว่นโปรเกรสซีฟเฉพาะบุคคล ไอซอพติก )
ดวงตาเป็นอวัยวะที่สำคัญและซับซ้อนที่สุดอวัยวะหนึ่งในร่างกายของคนเรา ทำหน้าที่ในการมองเห็นสิ่งต่างๆ ดังนั้นหากเกิดปัญหากับดวงตาก็จะมีผลต่อคุณภาพชีวิตด้วยเช่นกัน
ตามองเห็นได้โดยผ่านขบวนการดังต่อไปนี้
เมื่อแสงไปตกกระทบวัตถุแล้วสะท้อนเข้าสู่ดวงตา โดยผ่านไปที่กระจกตา (Cornea) ซึ่งเป็นส่วนที่ใสและบริเวณหน้ากระจกตายังมีชั้นฟิล์มน้ำตา (Tear film) ซึ่งมีความสำคัญกับการมองเห็นเช่นเดียวกัน คือชั้นฟิล์มน้ำตาจะช่วยให้ความชุ่มชื้น หล่อลื่นผิวดวงตาและยังช่วยให้กระจกตาเรียบเพื่อให้มองเห็นได้ชัดเจน ดังนั้นหากมีตาแห้งจะส่งผลให้กระจกตาไม่เรียบและการมองเห็นแย่ลงได้
หลังจากนั้นแสงผ่านไปที่รูม่านตา (Pupil) ซึ่งม่านตาจะทำหน้าที่ในการปรับปริมาณแสงที่จะเข้าไปในดวงตา เมื่ออยู่ในที่สว่างรูม่านตาจะมีขนาดเล็กและขยายใหญ่เมื่ออยู่ในที่มืด หลังผ่านรูม่านตาแล้วแสงจะไปที่เลนส์แก้วตา (Lens) โดยเลนส์แก้วตาจะใสและมีความยืดหยุ่น จึงทำหน้าที่ในการรวมแสงที่มาจากภายนอกให้ไปโฟกัสที่จอประสาทตาได้พอดี ซึ่งหลังจากอายุ 40 ปี เลนส์แก้วตาจะลดความยืดหยุ่นลง ทำให้แสงไม่โฟกัสที่จอประสาทตาจึงเกิดสายตายาวขึ้นและเลนส์แก้วตาจะขุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุที่มากขึ้นหรือที่เรียกว่าต้อกระจกนั่นเอง เมื่อผ่านเลนส์แก้วตาไปจะพบกับน้ำวุ้นตา (Vitreous Humor) ทำหน้าที่ช่วยในการหักเหของแสง ในคนสูงอายุหรือคนที่มีสายตาสั้นมาก จะมีการเสื่อมของน้ำวุ้นตาทำให้บางครั้งจะเห็นจุดดำลอยไปมาได้ เมื่อแสงผ่านน้ำวุ้นตาแล้วจะไปโฟกัสที่จอประสาทตา (Retina) ซึ่งเป็นส่วนของเซลล์รับภาพนับล้านเซลล์ ทำหน้าที่ในการแปลงภาพที่มองเห็นเป็นสัญญาณประสาทและส่งต่อไปตามใยประสาท (Nerve fiber) ซึ่งใยประสาทของเซลล์รับภาพเหล่านี้จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ใยประสาทที่มาจากเซลล์รับภาพของจอประสาทตาที่อยู่ด้านจมูก (Nasal retinal fiber) และใยประสาทที่มาจากเซลล์รับภาพของจอประสาทตาด้านขมับ (Temporal retinal fiber) ใยประสาททั้งสองส่วนนี้มารวมกันที่ขั้วประสาทตา (Optic disc) และเมื่อออกพ้นลูกตามาจะกลายเป็นเส้นประสาทตา (Optic Nerve)
จากนั้นเส้นประสาทตาจากตาทั้งสองข้างมาเชื่อมต่อกันบริเวณส่วนไขว้ประสาทตา (Optic chiasm) หลังจากนั้นจะแยกออกกลายเป็นลำเส้นใยประสาท (Optic tract) 2 เส้น อยู่ทางซ้ายและทางขวา ซึ่งบริเวณส่วนไขว้ประสาทตานั้นมีความสำคัญคือ ใยประสาทที่มาจากเซลล์รับภาพของจอประสาทตาที่อยู่ด้านจมูก (Nasal retinal fiber) ของทั้งสองตาจะวิ่งข้ามไปสู่ลำเส้นใยประสาท (Optic tract) ฝั่งตรงข้าม ส่วนใยประสาทที่มาจากเซลล์รับภาพของจอประสาทตาด้านขมับ (Temporal retinal fiber) จะวิ่งไปสู่ลำเส้นใยประสาท (Optic tract) ฝั่งเดิม
ดังนั้นในลำเส้นใยประสาท (Optic tract) แต่ละข้างจะประกอบไปด้วยใยประสาทที่มาจากเซลล์รับภาพของจอประสาทตาที่อยู่ด้านจมูก (Nasal retinal fiber) ของตาด้านตรงข้ามรวมกับใยประสาทที่มาจากเซลล์รับภาพของจอประสาทตาด้านขมับ (Temporal retinal fiber) ของตาด้านเดียวกัน วิ่งรวมกันไปสู่นิวเคลียสงอคล้ายเข่าด้านข้าง (Lateral geniculate body) หลังจากนั้นใยประสาทที่ออกจากนิวเคลียสงอคล้ายเข่าด้านข้างจะแผ่กว้างและวิ่งไปสู่สมองกลีบขมับ (Temporal lobe) และโค้งกลับมาสู่สมองกลีบข้าง (Parietal lobe) และไปสิ้นสุดที่เปลือกสมองส่วนการเห็น (Visual cortex) ซึ่งอยู่ที่กลีบท้ายทอยของสมอง (occipital lobe) เราเรียกใยประสาท เหล่านี้ว่าส่วนแผ่ประสาทตา (Optic radiation)
เมื่อมีความผิดปกติต่างๆ เช่น มีเลือดออก มีเนื้องอกในสมองหรืออุบัติเหตุที่มีผลกระทบต่อส่วนใดส่วนหนึ่งตั้งแต่เส้นประสาทตาจนกระทั่งถึงกลีบท้ายทอยของสมอง จะส่งผลทำให้การมองเห็นในส่วนของลานสายตาผิดปกติไป (Visual field defects) ซึ่งลานสายตาจะผิดปกติอย่างไรขึ้นกับตำแหน่งที่เกิดความผิดปกตินั้นดังแสดงในภาพที่ 4
ภาพที่ 4: แสดงลานสายตาที่ผิดปกติไป เมื่อมีความผิดปกติที่เกิดขึ้นที่ตำแหน่งต่างๆ ดังนี้
- เส้นประสาทตาด้านซ้าย (Left optic nerve)
- ส่วนไขว้ประสาทตา (Optic chiasm)
- ลำเส้นใยประสาทด้านซ้าย (Left optic tract)
- ส่วนแผ่ประสาทตา (Optic radiation) ด้านซ้ายที่อยู่บริเวณสมองกลีบขมับ (Temporal lobe)
- ส่วนแผ่ประสาทตา (Optic radiation) ด้านซ้ายที่อยู่บริเวณสมองกลีบข้าง (Parietal lobe)
- กลีบท้ายทอยของสมอง (occipital lobe)
กลีบท้ายทอยของสมอง (Occipital lobe) เป็นสมองส่วนที่ใช้รับรู้การมองเห็น เมื่อสัญญาณประสาทออกจากสมองกลีบท้ายทอยแล้วนั้น จากสมมุติฐานทางสัญญาณสองทาง (Two-streams hypothesis) จะแยกออกเป็นสองเส้นทาง คือ
- ทางสัญญาณด้านล่าง (Ventral stream) มุ่งหน้าไปสู่สมองกลีบขมับ (Temporal lobe) มีบทบาทในการรู้จำและจำแนกวัตถุ (object identification and recognition)
- ทางสัญญาณด้านบน (Dorsal stream) ไปสุดที่สมองกลีบข้าง (Parietal lobe) มีบทบาทในการแสดงตำแหน่งของวัตถุ เพื่อกำหนดพฤติกรรมหรือการเคลื่อนไหว เช่น เอื้อมมือไปหยิบวัตถุนั้น
นอกจากนี้ระบบการมองเห็นยังมีบทบาทสำคัญในระบบควบคุมการทรงตัว (Vestibular system) และระบบการรับรู้อากัปกิริยา (Proprioception) อีกด้วย
ดังที่กล่าวมาข้างต้น หากการมองเห็นของเราแย่ลงจากสาเหตุต่างๆ เช่น ต้อกระจก สายตาผิดปกติที่ไม่ได้แก้ไข จะมีผลกระทบได้หลายระบบในร่างกาย เช่น การทรงตัวไม่ดี กะระยะต่างๆผิดพลาดส่งผลทำให้เกิดการพลัดตกหกล้ม และหากฝืนเพ่งมากจะเกิดอาการเมื่อยล้าตา ปวดตา ปวดศีรษะ ทำให้คุณภาพชีวิตลดลงได้