โดย แพทย์หญิง ณัฐธิดา นิ่มวรพันธุ์ ( จักษุแพทย์ที่ปรึกษาประจำศูนย์แว่นโปรเกรสซีฟเฉพาะบุคคล ไอซอพติก )
เชื่อว่าทุกท่านคงเคยมีปัญหาเกี่ยวกับดวงตากันมาแล้ว เมื่อเกิดปัญหาขึ้นจะเกิดความสงสัยว่าควรไปพบแพทย์หรือไม่ และต้องรีบไปพบโดยเร็วแค่ไหน ในบทความนี้จะได้กล่าวถึงภาวะฉุกเฉินทางตาที่ควรรีบไปพบจักษุแพทย์เพื่อจะได้รับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
ภาวะฉุกเฉินทางตานั้น แบ่งออกได้คร่าวๆ เป็น 3 กลุ่มอาการ ดังนี้
อุบัติเหตุบริเวณตา ( Ocular trauma )
มีการกระทบกระแทกบริเวณตา ก่อให้เกิดความเสียหายได้หลายอย่าง เช่น รอยฟกช้ำบริเวณเปลือกตา เปลือกตามีแผลฉีกขาด แผลถลอกที่กระจกตา ( Epithelial defect ) เลือดออกใต้เยื่อบุตาขาว ( Subconjunctival hemorrhage ) เลือดออกในช่องหน้าลูกตา ( Hyphema ) ลูกตาแตก ( Rupture globe ) เส้นประสาทตาเสื่อมจากอุบัติเหตุ ( Traumatic optic neuropathy ) ดังนั้น หากมีการกระทบกระแทกบริเวณตา ให้รีบไปพบจักษุแพทย์ในทันที โดยห้ามกดตาและไม่ให้อะไรกระแทกตา อาจหาอะไรมาครอบไว้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายกับดวงตาเพิ่มขึ้น
สิ่งแปลกปลอมเข้าตา สามารถพบสิ่งแปลกปลอมได้ทั้งที่เยื่อบุตา กระจกตา และสามารถทะลุเข้าไป อยู่ในลูกตาได้ ขึ้นอยู่กับชนิดของสิ่งแปลกปลอม กลไกและความรุนแรงของอุบัติเหตุนั้น เช่น ฝุ่นเข้าตาก็อาจพบเศษฝุ่นบริเวณเยื่อบุตาหรือกระจกตาซึ่งก่อให้เกิดระคายเคืองตา น้ำตาไหลเท่านั้น แต่หากเกิดตอกตะปูแล้วเศษตะปูกระเด็นเข้าตาก็สามารถพบเศษตะปูเข้าไปอยู่ภายในลูกตาได้ ส่วนใหญ่มักมีอาการตามัวลงร่วมด้วย
การดูแลเบื้องต้น หากเป็นเพียงฝุ่นเข้าตา ให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดหากไม่หายระคายเคืองควรไปพบจักษุแพทย์ แต่หากเป็นอุบัติเหตุที่รุนแรงและสงสัยว่ามีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปอยู่ในลูกตาเนื่องจากมีตามัวลง ควรรีบไปพบจักษุแพทย์ในทันทีโดยห้ามล้างหรือกดตา
สารเคมีเข้าตา จะก่อให้เกิดความเสียหายกับดวงตามากแค่ไหน ขึ้นอยู่กับ ชนิด ความเข้มข้น ปริมาณ และระยะเวลาที่สารเคมีสัมผัสตา ดังนั้น เมื่อสารเคมีเข้าตาให้รีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดในทันที ล้างในปริมาณมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อลดปริมาณสารเคมีที่สัมผัสตาให้ได้มากที่สุด หลังจากนั้นรีบไปพบจักษุแพทย์ทันที
- ตาแดง ( Red eye )
ตาแดง เกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยตาแดงที่จำเป็นต้องรีบพบแพทย์นั้น มีดังต่อไปนี้
การอักเสบของเบ้าตา ( Orbital cellulitis ) จะมีอาการตาแดงร่วมกับ เปลือกตาบวม แดง ตาอาจโปนกว่าอีกข้าง ตามัวหรือเห็นภาพซ้อน กลอกตาแล้วปวด ซึ่งจำเป็นต้องได้ยาฆ่าเชื้อฉีดทางเส้นเลือด มิฉะนั้น อาจติดเชื้อถึงสมองได้
ม่านตาอักเสบ ( Uveitis ) มีอาการตาแดง ปวดตา ตามัวลง สู้แสงไม่ได้ หรือมีประวัติเคยมีอาการแบบนี้เป็นๆหายๆ มาก่อน
แผลติดเชื้อที่กระจกตา ( Corneal ulcer ) มีอาการตาแดง ปวดตา ขี้ตาเหลือง มีประวัติใส่คอนแทคเลนส์หรือมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตามาก่อน
ติดเชื้อภายในลูกตา ( Endophthalmitis ) มีอาการตาแดง ปวดตา ตามัวลง มีประวัติเคยผ่าตัดต้อกระจกมาก่อน
โรคต้อหินเฉียบพลัน ( Acute angle-closure glaucoma ) มีอาการตาแดง ปวดตา ตามัว คลื่นไส้ อาเจียนเห็นแสงรุ้งรอบดวงไฟ
มองไม่เห็นฉับพลัน ( Acute visual loss )
การมองไม่เห็นเฉียบพลัน อาจมีความผิดปกติได้จากหลายสาเหตุ เช่น
โรคเส้นเลือดแดงจอประสาทตาอุดตัน ( Central retinal artery occlusion ) มีอาการตามัวลงในตาข้างหนึ่งอย่างฉับพลันทันที โดยไม่ปวด บางรายมีอาการตามัวชั่วขณะเป็นวินาที ( amaurosis fugax ) นำมาก่อน ซึ่งการรักษาจะได้ผลดีที่สุดคือต้องไปพบจักษุแพทย์ภายใน 4 ชั่วโมงหลังมีอาการ เนื่องจากหลัง 4 ชั่วโมงไปแล้วจอประสาทตาจะมีการเสื่อมสภาพไปอย่างถาวร
จอประสาทตาลอกหลุด ( Retinal detachment ) จะมีอาการตามัวลง อาจมัวลงบางส่วนเฉพาะครึ่งบนหรือครึ่งล่างของภาพ อาจเห็นจุดดำหรือคล้ายหยากไย่ลอยไปมา โดยไม่มีอาการปวด ซึ่งผลการรักษาจะดีหรือไม่ขึ้นกับระยะเวลาตั้งแต่มีอาการจนได้รับการรักษา ดังนั้นควรรีบไปพบจักษุแพทย์โดยเร็วที่สุด
ภาวะขาดเลือดของเส้นประสาทตาส่วนหน้า (Anterior Ischemic Optic Neuropathy; AION) จะมีอาการตามัวลงอย่างเฉียบพลัน ในบางรายอาจมีการเจ็บบริเวณขมับหรือเมื่อเคี้ยวแล้วปวดบริเวณกราม (Jaw claudication) ภาวะนี้มักสัมพันธ์กับโรคทางกายได้หลายอย่าง ควรได้รับการรักษาอย่างเร็วที่สุดเพื่อลดโอกาสการเกิดตามัวในตาอีกข้างและลดอัตราความพิการหรือตายจะเส้นเลือดที่มีการอักเสบที่อวัยวะส่วนอื่น
ดังนั้นหากทุกท่านพบมีความผิดปกติที่ทำให้สงสัยว่าจะที่ภาวะต่างๆดังที่กล่าวมาข้างต้นให้รีบไปพบจักษุแพทย์โดยเร็วที่สุด