โดย แพทย์หญิง ณัฐธิดา นิ่มวรพันธุ์ ( จักษุแพทย์ที่ปรึกษาประจำศูนย์แว่นโปรเกรสซีฟเฉพาะบุคคล ไอซอพติก )
ไมเกรน ( Migraine ) หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกว่าโรคปวดหัวข้างเดียว เป็นโรคปวดศีรษะเรื้อรังชนิดหนึ่ง ซึ่งยังหาสาเหตุที่แน่ชัดไม่ได้ แต่เชื่อว่าเกิดจากการทำงานผิดปกติของก้านสมองและมีภาวะที่สารเคมีในสมองไม่สมดุล ส่งผลให้หลอดเลือดมีความไวต่อการกระตุ้นมากเป็นพิเศษ จึงมีการหดและขยายตัวของหลอดเลือดอย่างผิดปกติและก่อให้เกิดอาการต่างๆของไมเกรน มักพบได้บ่อยในช่วงอายุ 30-40 ปี ผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยร้อยละ 70 ของคนที่เป็นไมเกรนมีประวัติญาติสายตรงเป็นไมเกรนด้วยเหมือนกัน จึงเชื่อว่าพันธุกรรมเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่ทำให้เกิดไมเกรน
อาการของโรคไมเกรน
อาการของโรคไมเกรนจะมีลักษณะเฉพาะ ซึ่งแบ่งได้ดังนี้
อาการนำ
คืออาการที่เกิดนำก่อนการปวดศีรษะ จะเป็นอยู่นาน 5-20 นาที (ไม่เกิน 60 นาที) แล้วหายไป หลังจากนั้นจึงมีอาการปวดศีรษะตามมาภายในระยะเวลาเป็น นาที ชั่วโมง หรือ วัน ก็เป็นได้ ซึ่งอาการนำแบ่งออกได้ 2 แบบ คือ อาการนำออร่า (Aura) และ อาการนำแบบอื่น
- อาการนำออร่า ยังแบ่งได้ดังนี้
- อาการเกี่ยวกับประสาทรับความรู้สึก เช่น รู้สึกคัน ชา ซ่า หรือแสบร้อน ตามผิวหนัง
- อาการเกี่ยวกับประสาทสั่งการ เช่น มีความรู้สึกเหมือนแขนขาไม่มีแรง
- อาการทางตา ที่พบได้บ่อยคือ เห็นเป็นแสงสว่างเป็นวงและบริเวณขอบๆมีแสงสีรุ้งเป็นเส้นซิกแซก เริ่มจากตรงกลางภาพและขยายขนาดหรือเคลื่อนที่ออกไปทางด้านข้าง บางครั้งเห็นภาพบิดเบี้ยว บริเวณตรงกลางภาพหายไป หรือเห็นภาพเป็นสีขาวดำ ก็เป็นได้
- อาการนำแบบอื่น ได้แก่ รู้สึกไวกับแสง เสียง หรือกลิ่นมากกว่าปกติ รู้สึกเพลีย หาวบ่อย หิวบ่อย กินจุ หิวน้ำบ่อย ท้องผูก หรือท้องเสีย หรือในบางคนไม่มีอาการนำใดเลยก็เป็นได้
อาการปวดศีรษะ
มักมีลักษณะเฉพาะคือ มักปวดศรีษะข้างเดียวแบบตุ๊บๆ บริเวณขมับ ศีรษะด้านหน้าและกระบอกตา หลังจากนั้นจะปวดไปทางด้านหลังและสุดท้ายอาจปวดทั้งศีรษะได้ โดยการเคลื่อนไหวร่างกายอาจกระตุ้นให้ปวดศีรษะมากขึ้น
นอกจากไมเกรนที่มีอาการปวดศีรษะแล้วนั้น ยังมีไมเกรนที่ตา ( Ocular migraine, Retinal migraine, Ophthalmic migraine, Visual migraine ) ซึ่งอาการคือเหมือนอาการนำแบบออร่าทางตาโดยที่ไม่มีอาการปวดศีรษะตามมา
การรักษา
หลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดไมเกรน
ซึ่งในแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ต้องสังเกตุและหลีกเลี่ยงเอง ซึ่งสิ่งกระตุ้นที่พบได้ คือ ความเครียด การนอนหลับที่มากหรือน้อยเกินไป การสัมผัสแสงที่สว่างมากเกินไป กลิ่นที่รุนแรง เช่น กลิ่นน้ำหอม กลิ่นน้ำมันเครื่อง การรับประทานอาหารบางอย่าง เช่น เนย โยเกิร์ต ผักดอง ผงชูรส สารกันบูด ชา กาแฟ แอลกอฮอล์ ช่วงมีประจำเดือนหรือไข่ตก อาการที่เย็นไปหรือเปลี่ยนแปลงเร็ว
การใช้ยารักษา โดยแบ่งเป็น
ใช้ยาบรรเทาเมื่อมีอาการปวดศีรษะ เช่น ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล ยาลดการอักเสบที่ไม่ไช่สเตียรอด์ (NSAIDs) หรือยาที่เฉพาะต่อไมเกรน ที่รู้จักกันคือ ยาคาเฟอร์กอท (Cafergot)
ใช้ยาเพื่อป้องกัน ลดความถี่และความรุนแรงของอาการ มียาอยู่หลายชนิดให้เลือกใช้ขึ้นอยู่กับแพทย์พิจารณา โดยต้องมีเกณฑ์ดังต่อไปนี้ จึงจะพิจารณาให้ได้รับยา คือ
- ปวดศีรษะไมเกรน มากกว่า 2 ครั้งต่อเดือน
- ปวดศีรษะแต่ละครั้ง ปวดนานมากกว่า 24 ชั่วโมง
- ปวดศีรษะแต่ละครั้ง จะส่งผลกระทบต่อการทำงานหรือใช้ชีวิตประจำวัน
- ใช้ยาในกลุ่มที่บรรเทาอาการเมื่อปวดศีรษะหลายตัวแล้วไม่ได้ผล
- ใช้ยาในกลุ่มที่บรรเทาอาการเมื่อปวดศีรษะบ่อยมากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์
ใช้ยาบรรเทาอาการอื่น เช่น ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน